การทบทวนตีความใหม่เช่นนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้อธิบายมิได้ระบุสภาวะที่ตั้ง สภาพด้านสังคม การเมือง ศาสนา ศาสนจักร(สงฆ์) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของท้องเรื่องที่ใช้ในการเขียนพระวรสารนักบุญมัทธิวขึ้นมา
ชุมชนคริสตชนสมัยนักบุญมัทธิว (Matthew’s Christian Community)
พระวรสารนักบุญมัทธิวไม่ใช่ผลงานของนักเขียนที่ใช้ชีวิตโดดเดี่ยว แยกตัวจากสังคม แต่เป็นสื่อสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวคริสต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันมานานว่าพระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นพระวรสารที่มีความเป็นศาสนจักรมากที่สุด และเป็นเล่มเดียวที่มีการใช้คำว่า “พระศาสนจักร” (Church) สื่อถึงชุมชนของผู้ที่เชื่อในพระคริสต์ (16:18; 18:17) จึงเห็นได้ชัดว่าพระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างจริงจังกับองค์ประกอบแวดล้อมสำคัญของสังคมชาวยิว ซึ่งไม่มีใครนิยามระบุได้ และไม่อาจบอกได้ว่าไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
ความสัมพันธ์กับชุมชนชาวยิว (Relation to the Jewish Community)
พระวรสารนักบุญมัทธิวจัดว่าเป็นพระวรสาร “ของชาวยิว” เนื่องจากมีลักษณะอย่างเด่นชัดในค่านิยมและยึดมั่นตามธรรมประเพณีชาวยิวอย่างจริงจัง ให้ความสนใจต่อบางสิ่งที่เห็นได้ชัดว่ามาจากศาสนายูดาย (เช่น ความใส่ใจต่อการเคารพกฎของศาสนายิว, วันสับบาโต, พระวิหาร) ไม่จำเป็นต้องอธิบายธรรมประเพณีของชาวยิวเหมือนในพระวรสารนักบุญมาระโกซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงหนึ่งของเอกสารนี้ (มธ. 15: 1 และ มก. 7:14) พระวรสารนักบุญมัทธิวมีข้อความสื่อให้เห็นว่าชุมชนของท่านยังคงปฏิบัติตามแบบแผนและกฎข้อบังคับของอำนาจการปกครองจากศาลาธรรม (Synagogue) (10:17; 23:2) รักษากฎวันสับบาโต (24:20) สนใจพระคัมภีร์ศาสนายิว (Scriptures) และกล่าวอ้างถึงเนื้อหาในพระคัมภีร์อย่างรู้แจ้งและแม่นยำ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าผู้อ่านพระวรสารของท่านรู้จักพระคัมภีร์อยู่แล้ว ในบางครั้ง ใช้คำว่าชนต่างศาสนา (Gentiles) เป็นผู้นับถือนอกรีต (Pagan) (5:47; 6:7, 32; 18:17; 20:25) แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพระวรสารนักบุญมัทธิว “มีความเป็นยิว” (Jewishness) อย่างเคร่งครัด มีลักษณะบางประการเปิดรับธรรมเนียมใหม่ (เช่น การลำดับวงศ์ตระกูล การที่คำทำนายในพระคัมภีร์ชาวยิวได้กลายเป็นความจริง) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพระวรสารของนักบุญลูกาหรือของนักบุญยอห์น จะพบความแตกต่างที่สามารถจัดว่าเป็นพระวรสารทั้งสองเป็นของชนต่างศาสนา เพราะแม้ว่าจะมีการอ้างอิงข้อความจากพระคัมภีร์ฮีบรู(ชาวยิว)เช่นกัน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นศาสนายูดายในระดับที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม พระวรสารทั้งหมดของเราต่างก็ดำรงรักษาสืบเนื่องมาจากธรรมประเพณีแบบชาวยิว เรียกว่า ยูดาย-คริสต์ จนถึงช่วงที่แยกออกมาอย่างชัดเจนเป็นศาสนาคริสต์ (Jewish Christianity)
ศาสนาคริสต์แบบชาวยิวไม่ใช่กลุ่มเสาหลักขนาดใหญ่ แต่เป็นเหมือนกลุ่มย่อยหลายๆ กลุ่มที่มีเจตคติต่อกฎเกณฑ์ศาสนายิวแตกต่างหลากหลายกัน ดังนั้นการมองว่าพระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นพระวรสารแบบชาวยิวก็ดูจะง่ายเกินไป ในรายละเอียดเราจะเห็นว่าพระวรสารนี้มีองค์ประกอบมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงการแยกออกจากศาสนายิว ตัวอย่างเช่น มีการอ้างอิงโดยใช้คำพูดว่าศาลาธรรม “ของพวกเขา” (4:23; 9:35; 10:17; 12:9; 13:54; 23:34) ธรรมาจารย์ “ของพวกเขา” (7:29) และในตอนท้ายอ้างอิงถึง “พวกชาวยิว” (The Jews) ราวกับว่าเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง (28:15, ดู “ความคิดเห็น”เกี่ยวกับ 16:1) และในบางครั้งพระวรสารนักบุญมัทธิวมีการกล่าวถึงคำพูดของบุคคลในลักษณะที่มีความเป็นยิวน้อยยิ่งกว่าข้อความที่เทียบเคียงกันได้ในพระวรสารนักบุญลูกา (มธ. 10:37// ลก. 14:26; มธ. 10:28//ลก. 12: 4-5 มธ. 5:18//ลก. 16:17) ใน มธ. 18: 15-20 มีปัญหาด้านวินัยเกิดขึ้นในหมู่คณะพระศาสนจักร ไม่ใช่ศาลาธรรม นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้ม(สูง)ว่านักบุญมัทธิวจะมีทัศนคติที่สนับสนุนชนต่างศาสนา ไม่ใช่เพียงชาวยิวเท่านั้น (ตัวอย่างเช่น 28:18-20 ดู “ความคิดเห็น” เกี่ยวกับ 1:2-17; 2:1-12; 4:15; 8:5-13; 12:18-21; 21:43) ดังนั้นนักบุญมัทธิวจึง “มีความเป็นชาวยิวในส่วนลึก แต่ก็ต่อต้านศาสนายิวอย่างเจ็บปวดด้วย”
พระศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิวมองว่าตนเป็นชุมชนของพระเมสสิยาห์
เป็นประชากรใหม่ (Eschatological) ของพระเป็นเจ้า แตกต่างจากชาวยิวหรือชนต่างศาสนา ผู้ไม่เชื่อว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระเมสสิยาห์ นักบุญมัทธิวยังคงปฏิบัติตามธรรมเนียมชาวยิวในการใช้คำว่าคนต่างศาสนา (Gentile) สื่อถึง “คนนอกศาสนา”(Outsider) ดังนั้นอคติที่เขามีต่อชาวยิวและชนต่างศาสนาของท่าน จริงๆ แล้วคือการแสดงออกถึงความรู้สึกของชุมชนชาวคริสต์ ซึ่งแตกต่างจากโลกของผู้ที่ไม่ใช่ชาวคริสต์ คือทั้งชาวยิวและชนต่างศาสนา พระวรสารขีดเส้นแบ่งผู้ที่เชื่อและผู้ที่ไม่เชื่อในพระคริสต์หรือความเป็นพระเมสสิยาห์ในองค์พระเยซูเจ้า หรือโดยยึดเอาพระคริสตเจ้าเป็นหลัก เช่นนี้ไม่ใช่แบ่งผู้คนเหล่านี้ออกจากความเป็นชาวยิว แต่เพิ่มมุมมองชนชาติอิสราเอลเป็นชนชาติที่นำมนุษย์สู่ความเป็นสากลหรือประชากรของพระเป็นเจ้าในระดับสากลจักรวาล (10:21-22, 32-39) การกำหนดว่าพระวรสารนี้เป็น “ของชาวยิว” พระวรสารนั้นเป็น “ของชนต่างศาสนา” หรือ “เป็นสากล” จะนำเราให้หลงผิด แม้ว่าจะยืนยันถึงหลักการแบ่งเช่นนี้ ซึ่งอาจเป็นข้อแตกต่างที่ทำให้เป็นลักษณะขัดแย้งได้ แต่เมื่อได้พิสูจน์ตนตามสัจธรรมแห่งพระประสงค์ของพระเป็นเจ้าในช่วงเวลาหนึ่ง ก็สามารถปรับเปลี่ยนข้ามพ้นสู่รูปแบบใหม่จากแก่นยึดธรรมบัญญัติและความเป็นอิสราเอลนิรันดรสู่แก่นยึดพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า มิติฝ่ายจิตกับความจริงและความเป็นสากลหรือนานาชาติและมีคุณค่าแท้จริง (ดู 25:31-46)
ความคลุมเครือของข้อมูลเกี่ยวกับศาสนายูดาย (Ambiguity of Data about Judaism) ข้อมูลของเราที่นำมาใช้ประเมินความสัมพันธ์ของนักบุญมัทธิวกับศาสนายูดายไม่ชัดเจน ช่วงเวลานั้นไม่มีศาสนายูดายที่มีความเป็นเอกภาพในสมัยของนักบุญมัทธิว11 ที่เราสามารถใช้เป็นจุดคงที่ในการเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับศาสนาคริสต์ในยุคแรกเริ่ม ศาสนายูดายในช่วงปลายศตวรรษที่หนึ่งเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันตนเองให้ก้าวหน้า หลังจากมหันตสงครามในช่วงปี 66-70 ศักราชกลาง แม้ในปัจจุบันจะไม่มีแหล่งข้อมูลร่วมสมัยใดๆ ที่ปราศจากความคลุมเครือ ศาสนายูดายระบบรับบีซึ่งเคร่งครัดและกำลังพัฒนาในสมัยของนักบุญมัทธิวน่าจะมีการก่อตัวขึ้นใหม่จากแหล่งข้อมูลของชาวยิวในยุคหลัง และมีแนวโน้มที่จะสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคหลัง ดังนั้นในอีกมุมหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าเราขาดภาพที่ชัดเจนของศาสนายูดายในสมัยของนักบุญมัทธิว
แต่ในอีกมุมหนึ่ง พระวรสารมีธรรมประเพณีที่มาจากหลากหลายยุคสมัยและสถานการณ์ ดังนั้นจึงไม่อาจเห็นได้ชัดเจนเสมอไปว่าอันใดเป็นตัวแทนของสมัยนักบุญมัทธิวและอันใดบ้างเป็นตัวแทนของสมัยก่อนนักบุญมัทธิวที่ชุมชนมีความเป็นยิวอย่างเข้มงวดกว่าพระศาสนจักรในสมัยของนักบุญมัทธิว ดังนั้นข้อมูลบางประการในพระวรสารก็สามารถนำมาตีความในทิศทางตรงข้ามกันได้ ตัวอย่างเช่น นักบุญมัทธิวไม่เคร่งครัดกับเรื่องการเข้าสุหนัตของชนต่างศาสนาที่กลับมานับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเรารู้ว่าสิ่งนี้มีความสำคัญต่อพันธกิจการประกาศเผยแพร่ข่าวดีต่อชนต่างศาสนารุ่นแรก (ดู กจ. 13-15; กท. 1-4) ในทางทฤษฎี ข้อมูลที่ใช้นี้อาจหมายความว่าพระศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิวยังอยู่ในบริบทของความเป็นชาวยิวอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องมีการเข้าสุหนัตด้วย หรือหมายความว่าพระศาสนจักรยุคนั้นใช้จุดเน้นใหม่จากพันธกิจต่อชนต่างศาสนายิวอย่างเต็มที่ จนประเด็นเรื่องการเข้าสุหนัตไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป (ซึ่งในส่วนการศึกษาวิพากษ์หนังสือเล่มนี้จะใช้กรณีแบบที่สองเป็นหลัก)
ดังนั้น คำถามที่เราเคยถามกันมาว่าพระศาสนาจักรในสมัยของนักบุญมัทธิวยังคง “เป็นแบบยิว” และอยู่ “ใน” ศาลาธรรม หรือ “เป็นแบบชนต่างศาสนา” และอยู่ “นอก” ศาลาธรรมแล้ว จึงเป็นคำถามที่ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป แทนที่เราจะมองว่าศาสนายูดายและศาลาธรรมเป็นสิ่งที่คงที่ ตายตัว ตามมติ “การประชุมสภา” ที่เมืองยัมเนีย (Jamnia) หลังยุคปี 70 ศักราชกลางที่มีการออกมาตรการเกี่ยวกับการจัดตั้งศาสนายูดาย เราควรมองระยะเวลาที่ขยายครอบคลุมตั้งแต่หลังสงครามช่วงปี 66-70 ไปจนถึงเวลาที่มีการประมวลจัดหมวดหมู่การตีความพระคัมภีร์ของชาวยิว (Codification of Mishnah) ว่าเป็นระยะเวลาของ “การจัดรูปแบบของศาสนายูดาย” (Formative Judaism) ในช่วงนี้ กลุ่มชาวฟาริสี (Pharisaic Party) ก่อนหน้ายุคปี 70 ซึ่งในปัจจุบันมีอำนาจสูงสุด ยังช่วงชิงอำนาจปกครองอยู่กับกลุ่มอื่นๆ ที่เหลือรอดมาจากสงคราม เช่น นักบวช (Priestly) ธรรมาจารย์ (Scribal) ผู้พยากรณ์ (Apocalyptic) ชาวคริสต์ (Christian) และในส่วนย่อยๆ อาจรวมถึงพวกสะดูสี (Sadducean) และพวกรักชาติ (Zealot) ) และในที่สุดก็ได้ก่อตั้งตนเองเป็นระบบรับบีที่ชัดเจนในศาสนายูดาย ซึ่งต่อมากลายเป็น “บรรทัดฐาน”(Normative) ในความผสมผสานนี้ เห็นได้ชัดว่าชุมชนในสมัยนักบุญมัทธิวยุคแรกเริ่ม ยังเป็นกลุ่มคนเกี่ยวข้องกับศาสนายูดาย คือกลุ่มคนที่มองว่าตนเองเป็นคนของพระเป็นเจ้าอย่างแท้จริง เป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกเบียดเบียนโดยผู้นำฟาริสีที่มีอำนาจ (ดูตัวอย่างใน 5:13-16; 10:23, 32-33; 40-42; 25: 31-46) ในทางประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ชาวยิวเบียดเบียนชาวคริสต์ยุคแรกเริ่มอยู่บ้าง เช่น การเบียดเบียนผู้ที่เชื่อในพระคริสต์ซึ่งเป็นชาวยิว (Jewish Christians) ที่อยู่ในโครงสร้างและต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของศาลาธรรม แต่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการหรืออย่างกว้างขวาง เหตุการณ์ที่ชาวยิวเบียดเบียนชาวคริสต์ในยุคแรกเริ่ม จึงไม่ควรถูกนำมาขยายเสริมแต่งจนลุกลาม กลายเป็นเชื้อเพลิงให้กับกลุ่มผู้ต่อต้านชาวยิว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรถึงกับปฏิเสธว่าไม่เคยมีอยู่เลย เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวคริสต์และชาวยิวในปัจจุบัน เนื่องจากเหตุการณ์ที่ชาวยิวเบียดเบียนชาวคริสต์ในสมัยนั้นไม่ใช่ปัญหาการกดขี่ทางศาสนาหรือเชื้อชาติ ไม่ใช่ปัญหาจากภายนอกที่แทรกแซงการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง (และแน่นอนว่าไม่เหมือนกับการที่ชาวคริสต์ในยุคหลังสังหารหมู่ชุมชนชาวยิวเลยแม้แต่น้อย) ดังข้อความในพระวรสารบทที่ 10: 17 และ 23:24 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งภายในระหว่างชาวยิว และระหว่างชาวคริสต์ด้วยกันในสมัยปฏิรูปเท่านั้น
ผลลัพธ์: การยืนยันที่ชัดเจนและปัญหาที่ยังต้องหาคำตอบต่อไป (Clear Affirmations and Continuing Questions) จากผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ ได้ให้การยืนยันในประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นฐานให้กับการตีความพระวรสารนักบุญมัทธิวเพิ่มเติมดังนี้
พระวรสารนักบุญมัทธิวไม่ได้มองว่าตนเองเป็นตัวแทนของศาสนาใหม่ คือศาสนาคริสต์ ซึ่งมีข้อขัดแย้งกับศาสนาเก่าคือศาสนายูดาย และไม่ได้มองว่าพระศาสนจักรคือ “อิสราเอลใหม่” ที่มาแทน “อิสราเอลเก่า” นักบุญมัทธิวมองว่าชุมชนชาวคริสต์ซึ่งมีทั้งคนยิวและชนต่างศาสนาคือกลุ่มคนของพระผู้เป็นเจ้าผู้ที่สืบสานศาสนาต่อไป และจะบรรลุความดีครบถ้วนทางจิตวิญญาณในอันตกาล เมื่อ “เผ่าพันธุ์ทั้ง 12 ของอิสราเอล” มารวมตัวกันอีกครั้ง ซึ่งทั้งชาวอิสราเอลและพระศาสนจักรจะต้องถูกพิพากษาโดยบุตรแห่งมนุษย์ (ดูความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 19:28)
นักบุญมัทธิวมองว่าชาวยิวที่ปฏิเสธพระเยซูเจ้าในฐานะพระเมสสิยาห์ (Messiah) โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำ (ธรรมาจารย์ ฟาริสี ปุโรหิต และนักบวช) เป็นพวกที่เสียสิทธิ์ของตนในฐานะประชากรของพระผู้เป็นเจ้า (21:43) ดังนั้น ในมุมมองของนักบุญมัทธิว อาณาจักรอิสราเอลคือประชาชาติหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางประชาชาติอื่นๆ ซึ่งได้รับเรียกให้เป็นผู้สืบสานความเป็นประชากรของพระผู้เป็นเจ้าอย่างต่อเนื่อง โดยการประกาศยอมรับว่าพระเยซูเจ้าคือพระเมสสิยาห์และปฏิบัติตนตามคำสอนของพระองค์ (10:32-33; 28: 18-20)
สาระเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนายูดายที่มีอยู่ในพระวรสารไม่ได้หมายความว่าพระวรสารนั้นเขียนขึ้นมาสำหรับชาวยิวอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เชื่อให้มาเชื่อนับถือพระเยซูคริสต์คือพระผู้ไถ่ นักบุญมัทธิวนิพนธ์พระวรสารเพื่อใช้เป็นคำสอนสำหรับสมาชิกในชุมชนของตน หล่อเลี้ยงรักษาความเชื่อศรัทธาและอธิบายชี้แจงเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความเข้าใจผิด ท่านไม่ได้มีจุดประสงค์ในการนิพนธ์เพื่อประกาศสอนเผยแพร่ศาสนา หรือตอบโต้ปกป้องศาสนากับสังคมภายนอกแต่อย่างใด
พระวรสารนักบุญมัทธิว บางทีจะมีข้อความสนทนาโต้เถียงกันอย่างร้อนแรงกับศาสนายูดายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพัฒนาการต่างๆ ในการฟื้นฟูจัดระเบียบของศาสนายูดายที่อยู่ในยุคร่วมสมัยของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์การจัดตั้งปฏิรูปสำนักรับบี ที่เมืองยัมเนีย และผลกระทบของเหตุการณ์ที่มีต่อศาลาธรรมในสภาพแวดล้อมของนักบุญมัทธิว เป็นสิ่งที่ท่านต้องใส่ใจอย่างมาก ท่านพิจารณาความเป็นผู้นำของชาวฟาริสีที่กำลังก่อตัวฟื้นฟูจัดระเบียบใหม่(หลังจากพระวิหารเยรูซาเล็มถูกทำลาย) และจัดโปรแกรมฟื้นฟูต่างๆ สำหรับศาสนายูดาย เป็นสิ่งที่ถูกต่อต้านสำคัญและเป็นทางเลือกที่แตกต่างกันสำหรับการปฏิบัติสำหรับประชากรของพระผู้เป็นเจ้าในความเข้าใจของท่าน ในพระวรสารมีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมประเพณีแบบชาวคริสต์ที่เคยเป็นชาวยิว ซึ่งในบางแง่มุมเป็นความหมายที่ทบทวนใหม่เพื่อให้ปฏิบัติแทนที่ของเดิม และยังมีความสำคัญมากพอที่จะต้องเก็บรักษาไว้ และในบางแง่มุมก็ต้องยืนยันที่จะรักษาไว้ (ดู “ความคิดเห็น” เกี่ยวกับ 5:17-20; 10:5-6; 23:1-3) แม้เนื้อหาใน 10:16-25 เล่าถึงชาวคริสต์ต้องแยกตัวออกมาจากศาลาธรรม “ของพวกเขา” นั้น แต่ข้อเท็จจริงคือชาวคริสต์ถูกโบยตีและถูกนำมาขึ้นศาลท้องถิ่นของศาสนายูดาย (Sanhedrins) ชึ่งระบุว่าผู้เป็นเหยื่อของการข่มเหงทารุณนี้ยังได้รับการพิจารณาแบบเป็นสมาชิกภายในชุมชนชาวยิว ถ้ามองในแง่มุมนี้ อาจกล่าวได้ว่าพระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวมีคุณลักษณะ“ความเป็นชาวยิว” เนื่องจากได้ปฏิบัติตนตามกฎของศาลาธรรมและยึดถือธรรมบัญญัติดังเช่นชาวยิวโดยทั่วไป
แม้พระศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิวและ/หรือชุมชนแหล่ง Q อาจได้เคยล้มเหลวในพันธกิจการเผยแพร่พระศาสนาไปสู่ชาวยิวมาก่อน ขณะนี้ได้ล้มเลิกพันธกิจเฉพาะนี้ไปแล้ว และไม่ถือว่าตนเป็นกระบวนการฟื้นฟูศาสนายูดายอีกต่อไป แต่ได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายไปมุ่งเน้นพันธกิจต่อชนต่างศาสนา เช่น การประกาศข่าวดีแก่ชนชาติต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นพันธกิจหนึ่งเดียวแทนที่จะเป็นเพียงชนชาติอิสราเอลชาติเดียว (28:18-20) นักบุญมัทธิวเข้าใจดีว่า พระศาสนจักรของท่านที่เป็นอยู่(ในขณะนั้น)และในอนาคตต้องมุ่งเน้นภารกิจการประกาศข่าวดีไปสู่นานาชาติ ดังนั้นจึงมองว่าศาสนายูดายเมื่อไม่เกี่ยวข้องกับพระคริสต์นั้น ก็ไม่ได้เป็นคู่แข่งและไม่เป็นปรปักษ์ ในมุมมองนี้อาจกล่าวได้ว่าพระศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิวเป็นของ “กลุ่มชนต่างศาสนา”
ปัญหาที่ยังติดค้างอยู่ กล่าวโดยเจาะจงคือปัญหาเรื่อง “เบอร์คาธ ฮา-มินิม” (Birkath ha-Minim) (การอวยพร <สาบแช่ง> คนนอกรีต) ยังคงแก้ไขไม่ได้ ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่กลุ่มศึกษาและสภารับบี (Academy and Rabbinic Court)ได้รับการปรับปรุงรื้อฟื้นขึ้นใหม่ในเมืองยัมเนีย และมีอิทธิพลจนกลายเป็นผู้นำในการฟื้นฟูศาสนายูดายขึ้นใหม่ หลังสงครามปี ค.ศ. 66-70 ได้ใช้บทภาวนาบทหนึ่งที่ได้ปรับเปลี่ยนแปลงโดยศาลาธรรม ให้มีคำสาบแช่งแก่พวก “มินิม” (Minim) หรือผู้ที่แยกตัวจากศาสนาหรือผู้ถือนอกรีต เป็นเหตุให้บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรในยุคต่อๆ มา เข้าใจว่าคำสาบแช่งนี้มีไว้สำหรับชาวคริสต์โดยตรง และนำมาใช้ในพิธีสวดภาวนาสรรเสริญในศาลาธรรมของชาวยิว แต่บางครั้งก็มีผู้โต้แย้งว่าบทสวดนี้เป็นเพียงเครื่องมือในการค้นหาชาวยิว-คริสต์ที่อยู่ในศาลาธรรมเท่านั้น (เพราะแน่นอนว่าพวกเขาย่อมไม่เข้าร่วมในพิธีสวดนี้ หรือทนไม่ได้ที่จะอยู่ร่วมภาวนาสรรเสริญกับหมู่คณะ) เมื่อพบว่าเป็นผู้ใด จะได้ขับไล่ให้ออกจากศาลาธรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ถ้อยคำในบทสวดมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกลัวว่าชาวคริสต์จะแก้แค้น ดังนั้นจึงส่งผลให้มีการโต้เถียงเรื่องถ้อยคำดั้งเดิมในบทสวด ต่างไม่มีใครแน่ใจและไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าบทสวดดั้งเดิมนั้นมีการกล่าวถึงชาวคริสต์หรือไม่ หรืออาจหมายถึงชนทุกกลุ่มที่ถูกผู้นำที่เมืองยัมเนียมองว่าเป็นพวกนอกรีต อีกทั้งก็ยังไม่มีความชัดเจนอีกเช่นกันว่าในสมัยของนักบุญมัทธิวนั้น ผู้นำของสำนักรับบี ที่เมืองยัมเนียมีอำนาจกำกับควบคุมบทสวดในศาลาธรรมอย่างแท้จริงหรือไม่?
ดังนั้นอาจจะเป็นการสรุปง่ายเกินไป ถ้ามองว่า “เบอร์คาธ ฮา-มินิม” (Birkath ha-Minim) คือหลักฐานที่แสดงว่านักบุญมัทธิวและชุมชนของท่านเป็นเหตุแห่งการแบ่งแยกจากศาสนายูดายในยุคแรกเริ่ม และมองว่าพระวรสารนักบุญมัทธิวโดยหลักๆ แล้ว คือ การโต้ตอบของกลุ่มที่ถูกขับไล่ภายใต้สำนักปฏิรูป ที่เมืองยัมเนีย ดังนี้เราจึงไม่อาจใช้ “เบอร์คาธ ฮา-มินิม” เป็นหลักฐานสำคัญในการตีความสถานการณ์ในสมัยนักบุญมัทธิวได้ แม้ว่าจะมีหลักฐานปรากฎชัดเจนว่ามีความขัดแย้งอย่างตึงเครียดในระดับลึกระหว่างศาสนายูดายซึ่งกำลังอยู่ในยุคการปฏิรูปฟื้นฟูอย่างชัดแจ้ง กับพระศาสนจักรของนักบุญมัทธิว ซึ่งก่อตั้งและสามารถพัฒนาเอกลักษณ์ โครงสร้าง และกระบวนการต่างๆของตน ในระดับมีอิทธิพลและมีอำนาจในการขับไล่คนออกจากศาสนา โดยการประกาศคำสอนที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ (ดูข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ มธ 18:15-20)
ประเด็นที่ว่าพระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวเป็นลัทธิ(A Sect)ใช่หรือไม่ แน่นอนว่าไม่ใช่ในแบบเดียวกับหมู่บ้านคุมราน (Qumran) ซึ่งเป็นชุมชนที่แยกตัวจากสังคม พระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวไม่ได้แยกตัวออกมาอย่างผู้ถูกขับไล่ที่หันหน้าเข้าหา(รวมกลุ่ม)กันเอง แต่เป็นการมุ่งไปข้างหน้าปฏิบัติภารกิจต่อสังคมโลกอย่างกระตือรือร้น ถึงกระนั้นพระศาสนจักรก็มีบางลักษณะที่คล้ายคลึงกับลัทธิ คือมีการกล่าวว่าพวกเขาคือประชากรที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า นำประเพณีต่างๆ จากศาสนาแม่มาเป็นหลักของตน และกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้สืบทอดที่แท้จริงแต่ผู้เดียวเท่านั้น (cf. 10:16 เป็นทัศนคติเช่นนี้ที่มีการพัฒนาขึ้นในชุมชน Q แล้ว)
ประเด็นที่ว่าพระวรสารนักบุญมัทธิวต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitic) หรือไม่ ในแง่นี้ ถ้าพิจารณาถึงการที่พระวรสารบางส่วนถูกนำมาใช้สนับสนุนการกีดกันแบ่งแยกเชื้อชาติ รวมถึงข้อความและการกระทำที่มีลักษณะต่อต้านยิว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 21:43 และ 27:25) เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับคำถามนี้อย่างซื่อสัตย์ โดยเฉพาะในกลุ่มชาวคริสต์ที่ต้องการยึดถืออย่างจริงจังว่าพระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นพระคัมภีร์ที่อยู่ในสารบบของศาสนาอย่างเป็นไปตามหลักการ (Canonical Scripture) อย่างไรก็ตาม การตั้งคำถามในประเด็นที่เป็นการต่อต้านชาวยิวก็ดูจะไม่เข้ากับยุคสมัย เพราะประเด็นที่มีอยู่ในพระวรสารนักบุญมัทธิวไม่ใช่การกีดกันด้านเชื้อชาติ แต่เป็นความขัดแย้งทางศาสนา สถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยที่พระวรสารนักบุญมัทธิวถือกำเนิดขึ้นไม่ได้มีเพียงความตึงเครียดระหว่างชาวยิวกับชนต่างศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีความขัดแย้งภายในระหว่างชาวยิวกลุ่มต่างๆ ในขณะนั้นอีกด้วย (พระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวจึงจัดเป็นกลุ่มหนึ่ง) สมาชิกบางส่วนหรือแม้กระทั่งส่วนใหญ่ของชุมชนชาวคริสต์สมัยนักบุญมัทธิวก็คือชาวยิว ซึ่งรู้สึกว่าตนเองถูกรังแกข่มเหงจากผู้นำของศาสนายิว ในสถานการณ์ความขัดแย้งนี้มีการพูดจากันด้วยถ้อยคำรุนแรง ดังนั้นจากฝ่ายของนักบุญมัทธิวจึงมีการพูดล้อเลียนเชิงลบเกี่ยวกับผู้นำชาวยิวและการปฏิบัติตามหลักศาสนายิว (ดู 21:43; 23:1-36; 27: 24-26) ถึงแม้จะดูไร้เหตุผลถ้ามองว่านักบุญมัทธิวมีลักษณะต่อต้านชาวยิว เพราะในพระวรสารก็แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าและศิษย์ของพระองค์เป็นชาวยิว และตัวของนักบุญมัทธิวเองก็เป็นชาวยิว ทั้งยังเขียนขึ้นมาเพื่อให้พระศาสนจักรที่ถือธรรมประเพณีและเป็นชาวยิวได้อ่าน แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ต้องยอมรับว่า เป็นความจริงที่ว่าคำกล่าวและภาพพจน์ที่มาจากความขัดแย้งระหว่างพระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวกับผู้นำศาสนายิวถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงโหมกระแสการต่อต้านชาวยิว ดังนั้นจึงทำให้ผู้ตีความในยุคสมัยใหม่ต้องพึงระวังไม่ให้ข้อความจากพระวรสารนี้ถูกนำไปใช้สนับสนุนการต่อต้านชาวยิว ในขณะเดียวกันการสัมผัสใส่ใจด้านหลักการของคนยุคใหม่ในเรื่องความล่อแหลมของประเด็นการต่อต้านชาวยิวก็ไม่ควรบดบังความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ที่ว่านักบุญมัทธิวมีจุดยืนที่แตกต่างและขัดแย้งกับศาสนายูดายที่กำลังฟื้นฟูอยู่ในยุคสมัยของท่าน