ผู้เขียน (Authorship)

ต้นฉบับพระคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดและดีที่สุดที่ค้นพบสองฉบับ ได้แก่ (, B) เรียกชื่อเอกสารนี้ง่ายๆ ว่า “ตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว” (KATA MAQQAION KATA MATHTHAION) และต้นฉบับต่อ มาหลังจากนั้นก็ใช้ชื่อว่า “พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว” (The Gospel According to Matthew) และ “พระวรสารศักดิ์สิทธิ์ตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว” (The Holy Gospel According to Matthew) และชื่ออื่น ที่ต่างไปเพียงเล็กน้อย แต่ต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดของพระวรสารเล่มอื่นๆ ก็ใช้รูปแบบง่าย อย่าง “ตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก” “ตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา” และ “ตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น” เห็นได้ชัดว่ามีการตั้งชื่อเหล่านี้ให้พระวรสารทุกเล่มในเวลาเดียวกัน โดยใช้คำว่า “พระวรสาร” มาเชื่อมโยงทุกเล่มไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นชื่อของต้นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดจึงมาจากยุคสมัยที่มีการเริ่มต้นก่อตั้งพระวรสารในสารบบสี่ฉบับ (Fourfold Gospel Canon) ในช่วงกลางของสากลศตวรรษที่สอง

รูปแบบและเนื้อหาของชื่อ (Titles) เอกสารเหล่านี้คือคำพยานยืนยันของพระศาสนจักรว่ามีพระวรสารเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งก็คือข่าวดีเกี่ยวกับองค์พระเยซูคริสต์ แต่เป็น “ตามคำบอกเล่า” ของผู้นิพนธ์พระวรสาร 4 ท่าน การใส่ชื่อของอัครสาวกติดไว้กับเอกสารหลัๆ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับศาสนาคริสต์สมัยแรกเริ่ม ไม่ใช่เพื่อจงใจปลอมแปลงประวัติศาสตร์ แต่เพื่อเป็นการอ้างว่าเนื้อหาของเอกสารนั้นมีความเป็นเทววิทยาและเป็นสิ่งที่ถูกต้องเห็นชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เอกสารมีสถานภาพที่ได้รับการรับรอง (Normative Status) ดังนั้นทั้งเอกสารในสารบบและนอกสารบบที่มีการรับรองสถานภาพจึงได้รับนามของอัครสาวก เป็นนามอันดับสองของชื่อเอกสาร (เช่น พระวรสารนักบุญโธมัส  พระวรสารนักบุญฟิลิป พระวรสารนักบุญบาร์โธโลมิว) สำหรับพระวรสารที่อยู่ในสารบบ คุณค่าและความสำคัญของชื่อเหล่านั้นเป็นการแสดงว่าพระศาสนจักรยืนยันงานเขียนนั้นว่าเป็นการตีความที่แท้จริงและถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับความหมายของเหตุการณ์ทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์แห่งองค์พระเยซูคริสต์ และอาจเป็นไปได้ด้วยเช่นกันว่าในบางกรณีชื่อของเอกสารเหล่านั้นอาจเป็นการถ่ายทอดธรรมประเพณีแท้จริงที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่เขียนเอกสารนั้น

พระวรสารนักบุญมัทธิวก็เช่นเดียวกับพระวรสารอื่นในพันธสัญญาใหม่ คือไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน ปัญหาในกรณีนี้คือ ชื่อของหนังสือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หรือไม่ นอกเหนือจากมีหน้าที่หลักๆ ในเชิงเทวศาสตร์ ผู้ที่ไม่วิพากษ์ตีความก็ยังยอมรับคุณค่าของธรรมประเพณีที่ปรากฏชื่อ (Face Value) นี้มาโดยตลอด แต่เมื่อไม่นานมานี้นักวิชาการเชิงวิจารณ์สองสามคนโต้แย้งว่าเอกสารนี้มีผู้เขียนเป็นอัครสาวก โดยมีนักบุญมัทธิวเป็นประจักษ์พยาน ในทางปฏิบัติแล้วนักวิชาการเชิงวิจารณ์ทั้งหลายอาจจะมองว่ามีหลักฐานมากมายที่ขัดแย้งกับการที่เอกสารนี้มีผู้เขียนเป็นอัครสาวกในกรณีดังต่อไปนี้ ได้แก่ (1) พระวรสารไม่ระบุชื่อผู้เขียน การที่บอกว่าอัครสาวกเป็นผู้เขียนเป็นการอ้างที่บุคคลเอามาใช้กับพระวรสาร แต่ในเนื้อหาของพระวรสารไม่มีการอ้างเช่นนั้น กรณีนี้จึงแตกต่างจากจดหมายจากนักบุญเปาโล สารบบที่สอง (Deutero-Pauline Letters) (2) การนำพระวรสารนักบุญมาระโกและเอกสารแหล่ง Q เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลก็ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะยืนยันว่าพระวรสารนี้เป็นคำพยานจากประจักษ์พยาน (3) ภาษากรีกที่อยู่ในพระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นภาษาแม่ของผู้เขียนและมีคุณภาพสูงกว่าภาษากรีกที่อยู่ในพระวรสารนักบุญมาระโกซึ่งไม่ค่อยสละสลวยนัก ดูจากสถานที่และภูมิหลังแล้ว ผู้เขียนพระวรสารนักบุญมัทธิวน่าจะมีความรู้ภาษาฮิบรูและอราเมอิก (Aramaic) มากพอที่จะทำงานกับเอกสาร แต่ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าท่านใช้สองภาษานี้ได้อย่างคล่องแคล่วหรือไม่ (4) การอ้างอิงถึงอำนาจของอัครสาวกที่เห็นได้ชัดในชื่อของพระวรสาร มีหลักฐานสนับสนุนมากพอว่าเป็นเพราะปัจจัยทางเทวศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว (5) หลักฐานที่สนับสนุนว่าผู้เขียนพระวรสารคือนักบุญมัทธิวผู้เป็นคนเก็บภาษี เช่น ลักษณะการเล่าเรื่องแบบใช้ตัวเลขชี้ให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นคนเก็บภาษีจึงมีความคล่องแคล่วเรื่องตัวเลข เป็นหลักฐานที่แต่งเติม (Fanciful) และไม่น่าเชื่อถือ จุดเชื่อมต่อที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่หนังสือบทอ่านฮักกาดาห์15 (Haggadic) และงานเขียนที่เป็นงานคัดลอกที่ใช้อธิบายพระคัมภีร์ชาวยิว (Scribal Composition) มีข้อโต้แย้งที่ว่าถ้านักบุญมัทธิวไม่ได้เขียนพระวรสารนี้ขึ้นมาจริงๆ ท่านก็น่าจะเป็นเพียงแค่ตัวละครที่ไม่ค่อยสำคัญในเนื้อเรื่องและชื่อของท่านไม่น่าจะถูกนำมาใช้อ้างว่าเป็นผู้เขียน แต่ข้อโต้แย้งนี้ก็มีจุดอ่อนตรงข้อเท็จจริงที่ว่าทุกตัวละครในศาสนาคริสต์ยุคแรกเริ่ม ไม่ว่าจะมีความสำคัญมากหรือน้อย ล้วนแต่ถูกนำชื่อมาเป็นชื่อของพระวรสารทั้งสิ้น เห็นได้ชัดจากรายชื่อจำนวนมากมายของพระวรสารพันธสัญญาใหม่ที่อยู่นอกสารบบ (NT Apocrypha) อาจสันนิษฐานได้ว่าอัครสาวกมัทธิวเกี่ยวข้องกับเอกสารแหล่ง Q หรือบางส่วนของงานเขียน M เพื่อว่าจะได้เห็นความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริงระหว่างนักบุญมัทธิวและพระวรสาร แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรงก็ตาม และที่มีความเป็นไปได้มากกว่านั้นก็คือ การลงความเห็นว่าพระวรสารเป็นของนักบุญมัทธิวเกิดจากเหตุผลที่ว่ามีการเปลี่ยนชื่อ “เลวี” ในพระวรสารนักบุญมาระโก 2:14 ให้เป็น “มัทธิว” ในพระวรสารนักบุญมัทธิว 9:9 และจากนั้นก็มีการระบุตัวตนของผู้ที่ชื่อมัทธิวในพระวรสารนักบุญมาระโก 3:18 ว่าเป็น “คนเก็บภาษี” ในพระวรสารนักบุญมัทธิว 10:3

เพื่อความสะดวก ผู้ศึกษาวิพากษ์จะขอใช้ชื่อตามธรรมเนียมเดิมคือ “มัทธิว” ในการกล่าวถึงผู้เขียนนิรนามของพระวรสารนักบุญมัทธิว แม้ว่าเราจะไม่รู้จักชื่อของท่าน แต่จากเอกสารที่ท่านได้ให้ไว้ เราสามารถสันนิษฐานได้ว่าท่านมีภูมิหลังเป็นชาวยิว แต่เติบโตขึ้นในสังคมชาวกรีก (อาจจะเป็นเมืองอันติโอค) และพูดภาษากรีก พระคัมภีร์ฉบับมาตรฐานของท่าน(ที่ท่านใช้)คือพระคัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับเจ็ดสิบ เป็นฉบับเก่าที่มีการแปลเป็นภาษากรีก (The Septuagint LXX) ท่านอาจจะใช้ภาษาฮิบรูได้ดีพอที่จะศึกษาพระคัมภีร์ได้ และรู้ภาษาอราเมอิกมากพอที่จะสื่อสารได้อย่างไม่เป็นทางการ ท่านรู้จักธรรมประเพณีและพิธีการต่างๆ ในศาลาธรรมอย่างดี แต่ไม่เคยได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการตามแบบมาตรฐานของธรรมาจารย์ในศาสนายูดายในยุคแรกเริ่ม ท่านอาจเป็นอาจารย์สอนรูปแบบหนึ่งในชุมชนของท่าน แต่คงยากที่จะหาคำเฉพาะที่ “เป็นทางการ” มาระบุได้ว่าท่านเป็นอาจารย์ผู้สอนประเภทใด ท่านอาจสร้างภาพแทนตัวท่านเองขึ้นมาใน 13:52 ตอนที่กล่าวถึง “ธรรมาจารย์ผู้ที่ได้เรียนรู้ถึงแผ่นดินสวรรค์แล้ว” แต่คำว่า “ธรรมาจารย์” ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายในเชิงเทคนิคแต่อย่างใด

ความรู้ทั่วไป