
คำวิจารณ์เชิงประวัติศาสตร์ : การตีความเนื้อหาที่มีหลายระดับชั้น
พระวรสารจัดเป็นเอกสารเชิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากแต่ละเล่มเป็นการอธิบายความหมายเชิงเทววิทยาเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้หนึ่ง และจัดรวบรวมขึ้นมาพร้อมกับอธิบายสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริง อภิปรายลักษณะบริบททางประวัติศาสตร์ ได้แก่ เรื่องคำบอกเล่า (Saying) เหตุการณ์ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้ และข้อคำสอนที่เป็นสัจธรรมสำหรับทุกยุคสมัย (อกาละ, อกาลิโก – Timeless) ผู้เขียนแสดงความคิดเห็น (Commentary) ข้อวิพากษ์ศึกษาหรือข้อคิดไตร่ตรองเพิ่มเติมในมุมมองที่ตนเข้าใจสำหรับผู้อ่านร่วมสมัย ไม่ได้มุ่งเน้นสู่ผู้อ่านยุคใดยุคหนึ่งหรือยุคปัจจุบันโดยตรง แต่มุ่งบอกเล่าตามสถานการณ์ (ทางประวัติศาสตร์) ตามกาลเวลายุคสมัยและสถานที่ กับอีกสถานการณ์หนึ่งซึ่งแตกต่างแต่คล้ายกัน สัมพันธ์กัน
เช่นเดียวกันพระวรสารนักบุญมัทธิวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ในพระคัมภีร์ใหม่ มีธรรมชาติเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องข้อมูล ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ การตีความที่ถูกต้องเหมาะสมจะต้องอ่าน วิเคราะห์ ทำความเข้าใจเนื้อหาโดยพิจารณาคำนึงถึงบริบทแวดล้อมดั้งเดิม เราควรให้เอกสารบอกเล่าเรื่องราวกับผู้คนในยุคสมัยนั้นตามกรอบความคิดของพวกเขาและอธิบายถึงสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ และถ้าหากเอกสารนี้พูดกับเราในสิ่งที่เราให้ความสำคัญด้วย (ซึ่งพระศาสนจักรทุกยุคทุกสมัยเข้าใจและเชื่อมั่นเช่นนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราศึกษาพระคัมภีร์) เท่ากับว่าถ้อยคำในพระคัมภีร์บอกเล่ากับมนุษย์ทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นเพียงภาพสะท้อนของความปรารถนา อุดมคติ หรือความกังวลของมนุษย์ (เชิงอัตวิสัย) ไม่ใช้ความรู้สึกส่วนบุคคลเป็นหลักในการตีความใดๆ ซึ่งอาจจะทำให้เราไม่เห็นความต่างระหว่างความหมายแบบโบราณที่แท้จริงภายใต้บริบทดั้งเดิมกับความหมายแบบยุคสมัยใหม่ภายใต้บริบทของสมัยใหม่ของเนื้อหานั้น ประเด็นนี้ทำให้เราไม่ควรเพิกเฉยกับการค้นหาว่าสิ่งนี้ “หมายความว่าอย่างไรในสมัยนั้น” หากเราต้องการจะค้นพบว่าพระวาจา (ข้อความในพระคัมภีร์) “หมายความว่าอย่างไรในสมัยนี้” ในกาลเวลา สภาพแวดล้อม สถานการณ์และสถานที่ของเรา
ความปรารถนาของผู้อ่านชาวคริสต์ที่ต้องการจะนำถ้อยคำในพระวรสารนักบุญมัทธิวมาปรับใช้กับสถานการณ์ของตนเองถือเป็นผลพลอยได้จากลักษณะเหตุการณ์อันเฉพาะเจาะจงของเรื่องราวเกี่ยวกับพระคริสต์ พระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธ พระองค์ทรงเป็นชาวยิว พูดภาษาอราเมอิก อาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ในศตวรรษที่หนึ่ง ทรงเป็นพระบุคคลที่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ในกรอบเวลาที่แน่ชัดไม่ใช่มนุษยชาติโดยภาพรวม ซึ่งเอกสารในสารบบพระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ทั้งหมดที่สื่อถึงความหมายของเหตุการณ์นี้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์อันเป็นข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน และเป็นเหตุการณ์ที่น่ายินดีแบบการเฉลิมฉลอง เพราะในเมื่อหลักคำสอนนี้เล่าถึงการปรากฏของพระเมสสิยาห์ว่าได้รับการยืนยันให้เราแน่ใจว่าทรงเป็นพระเยซูเจ้าผู้มีตัวตนในประวัติศาสตร์ ในความเป็นพระคริสต์ของพระเยซูเจ้า ย่อมหมายความว่าโลกและชีวิตมนุษย์ได้รับการยืนยันเช่นกัน หรือกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้เพียงแสดงองค์ปรากฏในความสมบูรณ์แบบนิรันดรภาพ (Eternal Absolutes) หรือเหนือธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่พระองค์ยังปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ (Historical Ambiguities) แห่งชีวิตนี้และโลกนี้
การตีความเชิงประวัติศาสตร์ต้องเหมาะสมกับการเผยแสดงทางประวัติศาสตร์ (Historical Revelation) เมื่อทรงเป็นพระเยซูคริสต์ที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ และพระคัมภีร์ได้บันทึกเป็นข้อเท็จจริงเชิงประวัติศาสตร์ สิ่งนี้จึงหมายความว่าการตีความทั้งหมดจะมีกรอบชัดเจน ประกอบจากส่วนแยกย่อยเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็นจริงของประวัติศาสตร์และมนุษย์ที่มีขอบเขตจำกัด ผู้เป็นนักตีความ เมื่อจะต้องตัดสินความหมายต่างๆ พึงยึดหลักวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ คือ ตีความบนฐานของข้อเท็จจริง ไม่ใช่ในความสมบูรณ์อันไร้ขอบเขต และจากการตีความบนฐานสิ่งเป็นจริงซึ่งมีขอบเขตจำกัด เป็นสิ่งเกิดขึ้นได้อย่างพิสูจน์ตรวจสอบได้ และเป็นสิ่งดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ การศึกษาประวัติศาสตร์โดยตัวเอง ไม่อาจเกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์แบบอันไร้ขอบเขต (Absolutes) และกระบวนการศึกษาเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งไม่ดีหรือไม่ถูกต้อง แต่เป็นกระบวนการที่ใช้วิทยาการการศึกษาอย่างมีหลักเกณฑ์และบนพื้นฐานของข้อพิสูจน์ตรวจสอบได้ จึงเป็นสิ่งน่ายินดีและอธิบายถึงพระวจนะของพระเป็นเจ้า ที่สื่อผ่านการเผยแสดงเป็นปรากฎการณ์จริงอย่างมีหลักฐานที่สามารถได้รับการตีความตามหลักการและกระบวนการทางวิชาการตรวจสอบพิสูจน์ความเป็นจริงแท้ยืนยัน โดยนักประวัติศาสตร์ ต่อไปเราจะพิจารณาส่วนต่างๆ ต่อไปนี้ ในมิติต่างๆ ในการตีความเชิงประวัติศาสตร์ในบันทึกของพระวรสารนักบุญมัทธิว
เนื้อหาสาระของพระวรสารมัทธิว
นักศึกษาทุกคนผู้ศึกษาพระวรสารนี้ต่างทราบว่าเป็นฉบับที่มีการเรียบเรียงขึ้นใหม่ เนื่องจากต้นฉบับที่แท้จริงนั้นสูญหายไป เช่นเดียวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ในพระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ อย่างไรก็ตาม นักศึกษาวิจารณ์เนื้อหา (พระคัมภีร์) ได้ดำเนินการทำตรวจสอบจนได้เนื้อหาสาระ พระวรสารนักบุญมัทธิวใกล้เคียงกับต้นฉบับดั้งเดิมมากที่สุดและเป็นฉบับที่ดีที่สุดออกมา ที่ผ่านการตรวจสอบความเชื่อมั่น “ระดับมาก” ในความถูกต้อง ถึงแม้จะไม่หมดทั้งฉบับ พระคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ภาษากรีกสองฉบับที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุดนี้ มีผู้เรียบเรียงคณะเดียวกัน (UBSGNT and Nestle-Atland 27) ดังนั้นเนื้อหาทั้งสองฉบับจึงเหมือนกัน ระบบการวิเคราะห์ (Critical Apparatus) ของพระคัมภีร์ฉบับ The Greek New Testament4 (UBSGNT) พบว่าในพระวรสารนักบุญมัทธิวมีชุดคำอ่านเป็นตัวแปรที่แตกต่างกัน (Variant Readings) 160 แห่ง โดยเลือกมาเฉพาะข้อความที่สำคัญสำหรับการแปลเป็นภาษาอื่น ส่วนพระคัมภีร์ฉบับ Novum Testamentum Greece 27 (Nestle-Atland 27) มีชุดคำอ่านเป็นตัวแปร (ที่แตกต่างกัน) ในพระวรสารนักบุญมัทธิวมากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งเป็นส่วนที่เลือกมาเฉพาะข้อความที่มีความสำคัญต่อการศึกษาอธิบาย ส่วนเนื้อหาฉบับที่ไฮน์ริค กรีฟเวน (Heinrich Greeven) จัดวางโครงสร้างเรียบเรียงใหม่แตกต่างกับฉบับ UBSGNT และ Nestle-Atland 27 ทั้งหมด 160 แห่ง แสดงว่าในหนึ่งบทจะมี 6 ตอน ที่พระคัมภีร์ภาษากรีกทั้งสองฉบับเห็นแตกต่างออกไปในเรื่องถ้อยคำที่อยู่ในต้นฉบับดั้งเดิมของพระวรสาร พระคัมภีร์ ฉบับ NRSV (New Revised Standard Version) นั้นยึดเนื้อหาตามมาตรฐานฉบับ UBSGNT และ Nestle-Atland 27 ส่วนที่แตกต่างมีน้อยมาก ส่วนพระคัมภีร์ฉบับ NIV (New International Version) ยึดตามเนื้อหาจากหลายๆ แหล่งที่สรรหารวบรวมและจัดวางโครงสร้างโดยผู้แปล ดังนั้นความแตกต่างระหว่างฉบับ NRSV กับ NIV ไม่ใช่การแปลที่แตกต่างกัน แต่อยู่ที่การไตร่ตรองของผู้แปลที่เลือกใช้คำและถ้อยคำแตกต่างกันจากต้นฉบับภาษากรีก
การวิเคราะห์แหล่งที่มา (Source Analysis)
บางครั้งเรียก “วรรณกรรมวิจารณ์” (Literary Criticism) เป็นวิธีการศึกษาตรวจสอบว่าผู้ประพันธ์ได้เนื้อหามาจากแหล่งใด มีลักษณะและรูปแบบเป็นอย่างไร ในช่วงศตวรรษที่สิบเก้าและศตวรรษที่ยี่สิบตอนต้น มีข้อสรุปทางวิชาการว่าแหล่งที่มาสำคัญของเนื้อหาในพระวรสารนักบุญมัทธิว คือ พระวรสารนักบุญมาระโก กับชุดรวบรวมคำพูดสอนของพระเยซูเจ้า (Sayings of Jesus) พร้อมคำบรรยายเพิ่มเติมเล็กน้อย ซึ่งเรียกว่า แหล่ง(ข้อมูล) “Q” แต่ในช่วงเวลาไม่นานมานี้ มีทัศนะทางความคิดเห็นใหม่ที่แตกต่างเกี่ยวกับแหล่งที่มาหลัก จากการตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถามมาศึกษาพิจารณาวินิจฉัยทั้งหมดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กลับมีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์อย่างสอดคล้องและที่ยึดตามหลักความเชื่อ (Dogmatism) น้อยลงกว่าแต่ก่อน กับหลีกเลี่ยงโดยใช้วิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ นั่นคือ นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่านักบุญมัทธิวใช้ข้อมูลแหล่ง “Q” (ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่นักบุญลูกาใช้เล็กน้อย) และใช้พระวรสารนักบุญมาระโก (ในรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนเล็กน้อยจากที่ปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่) รวมทั้งใช้แหล่งเอกสารอื่นๆ ในกระแสธรรมประเพณีของตน (เรียกแหล่ง “M”) ซึ่งเป็นแหล่งที่มาหลักในการนิพนธ์พระวรสาร ส่วนข้อศึกษาวิพากษ์ (Commentary) พิจารณาจากมุมมองหรือสมมุติฐานว่านักบุญมัทธิวใช้แหล่งที่มาทั้งสองแห่ง เช่นเดียวกับสมมติฐานการศึกษาพระวรสาร สหทรรศน์
การวิจารณ์รูปแบบ (Form Criticism)
แหล่งที่มาหลักของการเขียนพระวรสารนักบุญมัทธิว คือธรรมประเพณี เรื่องบอกเล่าด้วยวาจา (Oral Tradition) ซึ่งถ่ายทอดเล่าสืบต่อกันมาแบบปากเปล่าเป็นเวลาหลายสิบปีหลังเหตุการณ์การกลับคืนพระชนม์ชีพ เล่าสาระเนื้อหาของเรื่องราวและคำสอนของพระเยซูคริสต์ได้ถ่ายทอดต่อกันจากปากต่อปากในชีวิตของชุมชนชาวคริสต์ ในลักษณะเรื่องเล่าจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง กับบันทึกที่เป็นชุดรวมเรื่องเล่าดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ชีวิตของพระเยซูคริสต์” แต่เป็นพยานยืนยันถึงความหมายทั้งหมดของเหตุการณ์(บันดาลใจ)เกี่ยวกับพระคริสต์ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของคำเทศนา คำสอน การสักการบูชา ความขัดแย้ง และการชี้แจงแถลงไขต่างๆ ของพระศาสนจักรตามความเข้าใจความหมายของคำสอนของพระคริสต์และคุณค่าต่อชีวิตของชาวคริสต์ ในสมัยนั้นๆ ซึ่งได้เล่าสื่อสารและรับฟังต่อๆ กันมา ดังนั้นแต่ละตอนของเรื่องเล่าจึงเป็นคำพยานยืนยันทางศาสนาถึงความหมาย ความศรัทธาของชาวคริสต์และเป็นสิ่งที่ปรารถนาเผยแพร่ ออกไปอย่างกว้างขวาง สื่อสาร-คุณค่า ความหมายกับตีความใหม่อย่างต่อเนื่องและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป
ขณะที่พระศาสนจักรถ่ายทอดคำสอนของพระเยซูเจ้า ธรรมประเพณี และเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระคริสต์ ในรูปแบบวิธีการและเนื้อหาที่แตกต่างกันหลายอย่าง จากอิทธิพลแวดล้อมของประเพณีชาวยิวและชาวกรีก (Jewish and Hellenistic Environment) ซึ่งพระศาสนจักรได้ยอมรับมาและดัดแปลงอย่างเหมาะสม รายการรูปแบบและวัตถุดิบที่ใช้จากผลการศึกษาของรูดอล์ฟ บุลท์แมน (Rudolf Bultman) และเสริมด้วยพัฒนาการหลายอย่างในปัจจุบัน ได้จัดเนื้อหาวัตถุดิบ รูปแบบงานเขียนเป็นประเภทหลักๆ และแบ่งเป็นประเภทย่อยๆ ได้อีก ดังนี้
1. เนื้อหาวัตถุดิบของประเภท “คำพูด” (Saying Material)
2. เนื้อหาประเภทเรื่องเล่า (Narrative Material)
การวิจารณ์รูปแบบ (Form Criticism) ปกติรูปแบบและเนื้อหากับการสื่อความหมายจะผูกสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไม่สามารถแยกได้ง่าย การศึกษาต้องวิเคราะห์รูปแบบ สภาพที่ตั้ง(ท้องถิ่น) การสื่อความ และความหมายของข้อความแต่ละตอนในธรรมประเพณี ในช่วงระหว่างการถ่ายทอดเรื่องราวแบบปากต่อปาก (Oral Transmission) พิจารณาดูว่ารูปแบบของข้อความ สาระเนื้อหาเพื่อรับรู้ความหมายที่ต้องการสื่อสารถึงผู้อ่านว่าเป็นอย่างไร การวิจารณ์รูปแบบเป็นขั้นตอนหนึ่งของการอธิบายตีความหมาย (Exegesis) ที่ดีและเหมาะสม กระบวนการศึกษาวิเคราะห์นี้จะนำไปสู่โอกาสให้ผู้ตีความสมัยใหม่สามารถสัมผัสได้ถึงพลวัตรการเปลี่ยนแปลง (Dynamism) ของชุมชนชาวคริสต์ที่เกิดขึ้น ในสมัยพระศาสนจักรยุคแรกเริ่ม ในการรักษาสืบต่อถ่ายทอดธรรมประเพณี และข้อคำสอนของชุมชนในอดีตอย่างสัตย์ซื่อ การปรับขยายหรือเปลี่ยนธรรมประเพณีอย่างสร้างสรรค์ กับในบริบท สถานการณ์ใหม่ๆ หรือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และรับรู้อย่างเหมาะสมกับมุมมองด้านเทววิทยาของพระวรสารนักบุญมัทธิว ซึ่งบ่งแสดงถึงพระเยซูเจ้า ทรงประทับอยู่เคียงข้างพระศาสนจักรของพระองค์ในฐานะครูผู้สอน (Teacher) ตลอดช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์
การวิจารณ์การจัดเรียบเรียง (Redaction Criticism)
การศึกษาว่าผู้นิพนธ์พระวรสารเลือกสรร จัดเรียบเรียง และเสริมแต่งธรรมประเพณีอย่างไรในการเขียนพระวรสาร เรียกว่า การวิจารณ์การจัดเรียบเรียง ในกรณีศึกษาพระวรสารของนักบุญมัทธิว โดยติดตามว่าท่านได้รวบรวมเนื้อหาทั้งหมดขึ้นมาอย่างไรและนำเนื้อหาจากแหล่ง “Q” และพระวรสารนักบุญมาระโกมาเขียนใหม่อย่างไร หรือปรับกระบวนการวิธีการใหม่ๆ ในการตีความหมายในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น การทบทวนตีความเรื่องราวของซามูแอลและบรรดากษัตริย์ในหนังสือพงศาวดาร 1-2 มาเล่าใหม่อย่างน่าเลื่อมใส มีทักษะลีลาและให้จินตภาพที่สื่อความหมายในพระคัมภีร์แบบ Midrashic Imagination อย่างดี เข้าใจได้ การวิเคราะห์แหล่งที่มาจึงตรวจสอบว่าท่านใช้ข้อมูลวัตถุดิบจากแหล่งใดสำหรับเขียนพระวรสาร ในปัจจุบัน โดยใช้วิธีนี้ตรวจสอบแต่ละตอนของเนื้อหา ธรรมประเพณีที่นำมาเขียน ว่ามีที่มาจากแหล่งใด ส่วนการวิจารณ์การจัดเรียบเรียงจะย้อนกลับมามุ่งเน้นที่ความหมายของรูปแบบทั้งหมดในขั้นตอนสุดท้ายของเอกสารทั้งเล่ม โดยพิจารณาเป็นพิเศษถึงแนวโน้มด้านเทววิทยาของผู้เขียนพระวรสาร (Evangelist) ตรวจสอบข้อความที่เพิ่ม ละเว้น และปรับเปลี่ยนเนื้อหาสาระในต้นฉบับ เมื่อศึกษาเพิ่มมากขึ้น พบว่าผู้เขียนพระวรสารได้ปรับเปลี่ยนสถานะจาก ผู้เรียบเรียง เป็นผู้เขียน มากขึ้น ระเบียบวิธีเช่นนี้เรียกว่า “การวิจารณ์การประพันธ์” (Composition Criticism) และมีแนวโน้มปรับลักษณะเป็นแบบกว้างกว่าวิจารณ์วิธีการจัดเรียบเรียง กลายเป็น “วรรณกรรมวิจารณ์” (Literacy Criticism) ดังที่จะกล่าวต่อไป
การวิจารณ์ธรรมประเพณี (Tradition Criticism)
และการศึกษาพระวรสารเชิงประวัติศาสตร์ “สามลักษณะ” เป็นการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริบท สภาพที่ตั้ง (Setting) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวหรือคำกล่าว(สอน) ว่ามีความหมายอย่างไรในยุคสมัยก่อนพระวรสารของนักบุญมัทธิว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตของพระเยซูเจ้าและชีวิตของกลุ่มคริสตชนด้วย อาจจะได้เพิ่มสิ่งที่เข้าใจชัดเจนขึ้น แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องพิจารณาว่าเรื่องราวหนึ่งหรือคำกล่าวหนึ่งมีความหมายอย่างไร ส่วนการศึกษาวิพากษ์ (Commentary) ของหนังสือเล่มนี้ประสงค์ศึกษาเพื่อเปิดทางสู่ความหมายของเนื้อหาในพระวรสารในเวลาและสถานที่ในยุคสมัยซึ่งนักบุญมัทธิวได้เขียนขึ้น ใช้วิธีตรวจวิเคราะห์จากหลักฐาน วรรณกรรมและแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ซึ่งจะช่วยให้การตีความได้พบความหมาย ความแตกต่างของบริบท สถานการณ์ เนื้อหาสาระในช่วงเวลา ระหว่างชีวิตของพระเยซูเจ้าก่อนการกลับคืนพระชนม์ชีพและความหมายที่เกิดขึ้นหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพ ในชีวิตคริสตชนและสังคมศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิว ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องหรือความสำคัญช่วยให้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของผู้เขียนหรือสิ่งที่ต้องการสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ
การวิเคราะห์เพื่อรับรู้ถึงธรรมประเพณีในสมัยของพระเยซูเจ้าจนถึงสมัยที่พระวรสารได้รับการเขียนขึ้น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำความเข้าใจธรรมชาติและความหมายของรูปแบบทั้งหมดของเนื้อหาคำสอนตามสารบบ พระคัมภีร์ วิธีการที่ใช้บ่อยครั้งในการศึกษา “การวิจารณ์ธรรมประเพณี” จึงตรวจสอบพิจารณาอย่างครอบคลุมถึงธรรมประเพณีทั้งหมด ตั้งแต่สมัยพระเยซูเจ้าจนถึงสมัยที่พระวรสารได้รับการเขียนจนเสร็จสมบูรณ์ และเป็นกระบวนการศึกษาแบบพลวัตร ถึงการเคลื่อนตัวของธรรมประเพณี ทั้งในช่วงการประกาศ(สอน)ข่าวดี การตีความใหม่ และกระบวนการส่งต่อ ถ่ายทอดข่าวดีทั้งหมดในรูปแบบต่างๆ ในยุคสมัยแรกเริ่มที่เกี่ยวข้อง
เราใช้วิธีการตั้งคำถามทางประวัติศาสตร์ “สามลักษณะ” วิเคราะห์กับ “คำกล่าว” ทุกตอน หรือ “เรื่องราว” ทุกเรื่องที่พระวรสารบอกเล่า ได้แก่ 1) ธรรมประเพณีของข้อความตอนนี้บอกอะไรเราเกี่ยวกับชีวิตจริงของเยซูแห่งนาซาเร็ธหรือไม่ หากว่าใช่ แล้วสิ่งนั้นมีความหมายอย่างไรในสถานการณ์แวดล้อมสมัยนั้น 2) ธรรมประเพณีนี้ ได้ถ่ายทอดต่อกันในพระศาสนจักรในสมัยของพระเยซูเจ้าไปจนถึงสมัยที่มีการรวบรวมพระวรสารเป็นคำพูด เป็นงานเขียน หรือว่าทั้งสองรูปแบบ หากเป็นเช่นนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในยุคสมัยนั้น และมีความหมายอย่างไรในสถานการณ์แวดล้อมนั้น 3) ผู้เขียนพระวรสารได้มีส่วนอย่างไรบ้างในการเขียนรูปแบบทั้งหมด (Final Form) ของพระวารสารนี้ และเนื้อหาสาระทั้งหมดมีความหมายอย่างไรในบริบทของผู้เขียนพระวรสาร ในทางปฏิบัติ กระบวนการทางประวัติศาสตร์ทำให้เราจำเป็นต้องเริ่มจากรูปแบบทั้งหมดของพระวรสารก่อน แล้วย้อนหลังไล่ไปตามลำดับชั้นจนถึงพระเยซูคริสต์ที่อยู่ในประวัติศาสตร์ จากนั้นค่อยเดินหน้าอีกครั้งตามประวัติศาสตร์ของธรรมประเพณีไปจนถึงรูปแบบทั้งหมดของเนื้อหาในพระวรสาร เราสันนิษฐานว่าการออกประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้าสั่งสอนประชาชนน่าจะอยู่ในช่วงปี 30 ศักราชกลาง (Common Era: CE) และพระวรสารนักบุญมัทธิวได้รับการเขียนขึ้นในช่วงปี 90 ศักราชกลาง ดังนั้นผู้อธิบายตีความทุกส่วนของเนื้อหาในพระวรสารนักบุญมัทธิวจึงควรแยกแยะระหว่างความหมายตามแบบของพระเยซูเจ้าในยุคปี 30 ศักราชกลาง ความหมายตามแบบของพระศาสนจักรยุคแรกเริ่มในช่วงปี 30-90 ศักราชกลาง และความหมายตามเนื้อหาและสถานการณ์ในสมัยของนักบุญมัทธิวเองในยุคปี 90 ศักราชกลาง
เมื่อวิเคราะห์เช่นนั้น เราไม่ควรเข้าใจผิดว่าเนื้อหาที่ “แท้จริง” คือส่วนที่ “ย้อนไปถึงสมัยพระเยซูเจ้า” เท่านั้น นักบุญมัทธิวเหมือนกับผู้เขียนพระวรสารท่านอื่นและบุคคลอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนพระคัมภีร์ได้ถ่ายทอดธรรมประเพณี การบอกเล่าแบบปากต่อปากและตีความด้วยการนำไปเล่าใหม่ ปรับเปลี่ยนใหม่ ตัดต่อและขยายบางข้อความ รวมถึงการสร้างเรื่องราวและคำกล่าวใหม่ๆ เนื่องจากนักบุญมัทธิวเป็นชาวยิวคนหนึ่ง ได้มีความรู้พระคัมภีร์อย่างแม่นยำ ซื่อสัตย์ต่อความเชื่อ คำสอนและธรรมบัญญัติ มีชีวิตอยู่ในธรรมประเพณีอันยาวนานของชาวยิวและพระคัมภีร์ไบเบิ้ล จึงสามารถตีความอย่างฉลาดเฉียบแหลม มีหลักเกณฑ์และน่าเชื่อถือสมเหตุสมผล ซึ่งถือเป็นการตีความใหม่แบบถูกต้องตามกฎหมาย ดังที่พบได้จากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ สามารถนำเรื่องราวในพระคัมภีร์มาเล่าใหม่อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งมีการนำเรื่องราวของหนังสืออพยพ หนังสือพงศาวดารและเรื่องราวของดาวิดมาเล่าใหม่ และทั้งสองกรณีต่างมีการปรับเปลี่ยนและขยายเรื่องราวเหล่านั้น รวมถึงการสร้างคำกล่าวและบทพูดใหม่ๆ ให้กับตัวละครในเนื้อเรื่องด้วย
แม้ว่าการศึกษาพัฒนาการของธรรมประเพณีที่อยู่ “เบื้องหลัง”งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์นี้จะมีคุณค่า แต่วัตถุประสงค์และระเบียบวิธีปฏิบัติของการศึกษาคำสอนและสาระที่ประกาศในพระศาสนจักรก็คือเนื้อหาพระคัมภีร์ในรูปแบบที่เป็นเอกสารสารบบพระคัมภีร์ที่ได้รับการรับรองในปัจจุบัน พระวรสารของนักบุญมัทธิวทั้งหมดเป็นเอกสารได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงในฐานะพระคัมภีร์ของพระศาสนจักร ไม่ใช่เพียงแค่รับแบบเรียบๆ ง่ายๆ ว่าเป็นเพียงเอกสารทางประวัติศาสตร์ หรือรับเฉพาะบางส่วนที่มีความ “เป็นประวัติศาสตร์” มากกว่าส่วนอื่นเท่านั้น แต่เป็นเอกสารที่ได้รับการรับรองเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งเป็นสารหรือข่าวดีที่พระศาสนจักรประกาศสอนและสื่อสารถึงความหมายของเหตุการณ์เกี่ยวกับพระคริสตเจ้า
การทบทวนตีความเอกสารศักดิ์สิทธิ์และธรรมประเพณี โดยนักบุญมัทธิว (Matthew’s Reinterpretation of Sacred Documents and Traditions)
ท่านนักบุญมัทธิวยึดถือพระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูและแนวคิดหลักตามความเชื่อศรัทธาในองค์พระเป็นเจ้าแท้พระองค์เดียว กับธรรมประเพณีอย่างซื่อสัตย์ ซึ่งมีอิทธิพลและคุณประโยชน์ต่อท่านอย่างมาก รวมทั้งจากแนวคิดทางศาสนาที่อยู่ในสมัยเฮเลนนิสติก (Hellenistic Period) แต่งานเขียนของท่านไม่ได้ให้ความสำคัญและสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางวรรณกรรมจากงานเขียนของคนต่างศาสนาเลย สิ่งที่ท่านอ่านดูเหมือนจะจำกัดอยู่เพียงเอกสารทางศาสนาของชาวคริสต์และชาวยิวเท่านั้น
แหล่งข้อมูลของชาวยิว (Jewish Sources)
เอกสารชุดหนึ่งที่เราอาจแน่ใจได้ว่ามีอยู่ในชุมชนของนักบุญมัทธิวและมีอิทธิพลอย่างล้ำลึกต่อการเขียนพระวรสารของท่านคือ พระคัมภีร์ฉบับเจ็ดสิบ LXX จากพระวรสารแม้พบว่ามีความตึงเครียดระหว่างนักบุญมัทธิวและชุมชนชาวยิว แต่ไม่ได้ส่งผลให้ท่านสนใจคัมภีร์ของชาวยิว(ฉบับภาษาฮีบรู)น้อยลง ในทางตรงข้าม ท่านกลับใส่ใจที่จะแสดงให้เห็นว่าท่านซื่อสัตย์และเข้าใจพระคัมภีร์ศาสนาของชาวยิวอย่างแตกฉาน และสามารถตีความอธิบายอย่างเข้าถึงความหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ได้อย่างดีโดยพระเยซูคริสต์และในคำสอนของพระศาสนจักรของพระเยซูเจ้า (ดูบทเสริมเรื่อง (excursus) “มัทธิวในฐานะผู้ตีความคัมภีร์ศาสนา” หน้า 151 – 154 ซึ่งจะเป็นการอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อหา ภาษาและรูปแบบตัวบท ของเนื้อหาพระคัมภีร์ที่มีในสมัยของนักบุญมัทธิว รวมถึงวัตถุประสงค์และวิธีการที่นักบุญมัทธิวนำพระคัมภีร์ศาสนามาใช้)
พระวรสารนักบุญมัทธิวไม่มีการยกข้อความโดยตรงมาจากพระคัมภีร์นอกสารบบหรือพระคัมภีร์สารบบที่สอง (Apocryphal/ Deuterocanonical Books) หรืองานเขียนอื่นๆ ที่อยู่นอกฉบับภาษาฮีบรู (Hebrew Canon) แต่ถึงกระนั้นก็เห็นได้ชัดว่านักบุญมัทธิวคุ้นเคยกับแนวคิดและข้อความที่ใช้ในพระคัมภีร์สารบบที่สองและหนังสือในกลุ่มงานเขียนนอกสารบบ (Pseudepigraphal Writings) เห็นได้จากการที่ในพระวรสารมีการพาดพิงถึงเอกสารเหล่านั้นถึง 78 ครั้ง (มีการอ้างถึงพระคัมภีร์นอกสารบบ 58 ครั้ง อ้างถึงเนื้อหาจากงานเขียนนอกแบบบัญญัติ (Extra-canonical) 20 ครั้ง เช่น มัคคาบี 4 ครั้งและเอโนค 1 ครั้ง)
แหล่งข้อมูลของชาวคริสต์ (Christian Sources)
จดหมายของนักบุญเปาโลและธรรมประเพณีที่สืบเนื่องมา บางครั้งมีผู้ให้ความเห็นว่านักบุญมัทธิวรู้จักและตอบรับแนวคิดของท่านนักบุญเปาโลและการตีความศาสนาคริสต์ตามคำสอนของนักบุญเปาโล (เช่นใน 5:19) หรือบ้างก็บอกว่านักบุญมัทธิวได้อ่านจดหมายของนักบุญเปาโลและได้รับอิทธิพลจากจดหมายเหล่านั้นอย่างมาก และแม้ว่าพระวรสารจะเขียนขึ้นที่เมืองอันติโอค (Antioch) หรือบริเวณใกล้เคียง (โปรดดูด้านล่าง) ที่ซึ่งนักบุญเปาโลเคยประกาศสอน (กท. 2:11, กจ. 13:1, 14:26, 15:22) แต่อิทธิพลระยะยาวของนักบุญเปาโลมีต่อเมืองอันติโอคน้อยมาก ซึ่งแทบจะไม่มีผลกระทบต่อศาสนาคริสต์ในชุมชนของนักบุญมัทธิว และไม่มีข้อบ่งชี้ให้เห็นว่างานเขียนของนักบุญมัทธิวได้รับอิทธิพลเชิงวรรณกรรมจากสาระคำสอนของนักบุญเปาโลเลย
บันทึกรวบรวมคำบอกเล่าจากแหล่ง “Q9”
ซึ่งเป็นแหล่งหลักฐานสำคัญที่ค้นพบม้วนแผ่นหนังจารึกพระคัมภีร์ และฉบับที่เขียนเป็นลายมือ (Manuscripts) นับตั้งแต่ช่วงต้นของประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในสมัยนักบุญมัทธิวหรืออาจจะนับตั้งแต่เริ่มค้นพบแหล่ง “Q” ซึ่งเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ในธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน สันนิษฐานว่ามีการนำเอกสารนี้มาอ่านประกอบพิธีบูชาในหมู่คณะของนักบุญมัทธิวสมัยนั้น และได้จัดรูปแบบและยึดถือเป็นหลักความประพฤติ (Ethos) ตามธรรมประเพณีคริสตชนในสมัยนักบุญมัทธิว แหล่ง “Q” ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งข้อมูลเดียวสำหรับนักบุญมัทธิวผู้เขียนพระวรสาร แต่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ท่านมีส่วนร่วมด้วย เอกสารนี้ยอมรับความเที่ยงตรงของลักษณะทางกฎหมายของศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวยิวในยุคเริ่มแรก (cf. Q 16:17 =มธ. 5:18) นักบุญมัทธิวให้ความเคารพเอกสารจากแหล่ง Q เมื่อเกิดความทับซ้อนขึ้นระหว่างเนื้อหาพระวรสารนักบุญมาระโกกับเอกสารแหล่ง Q ท่านจะเลือกใช้เอกสารแหล่ง Q ซึ่งเก่าแก่กว่าและถูกต้องแม่นยำกว่า (ดู 10:10 = ลก. 10:4; cf. มก. 6:8-9)
นักบุญมัทธิวได้ดำเนินการทบทวนการตีความเอกสารแหล่ง Q อย่างมาก ไม่ใช่เพียงแค่ปรับเปลี่ยนเนื้อหา (เพียงเล็กน้อย)ในเอกสารนี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมประเพณีในพระศาสนจักรสมัยของท่าน แต่หลักๆ ก็คือการผสานเนื้อหาจากแหล่ง Q เสริมความเข้าไปในโครงสร้างการบรรยายเรื่องของพระวรสารนักบุญมาระโก อาจเป็นเพราะเอกสารแหล่ง Q รูปแบบดั้งเดิมเป็นเอกสารที่ไม่แน่นอนตายตัว มีการเพิ่มขยายเนื้อหาอยู่ตลอด พร้อมที่จะขยายเพิ่มขึ้นอีก เมื่อมี “คำกล่าวของพระเยซูเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ชีพ” ใหม่ๆ จากผู้ประกาศสอน(ข่าวดี)ชาวคริสต์ การนำเนื้อหาเอกสารนี้ผสานใส่เข้าไปในโครงสร้างเรื่องราวก่อนการฟื้นคืนพระชนม์ชีพในคำบรรยายของพระวรสารนักบุญมาระโก ทำให้นักบุญมัทธิวสามารถเก็บรักษาคำพูดที่พระเยซูคริสต์ได้กล่าวไว้กับพระศาสนจักรในเอกสารแหล่ง Q และป้องกันการเพิ่มเติมอย่างอิสระเป็นการจำกัดวงไว้ภายในข้อเท็จจริงหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพระเยซูเจ้าช่วงก่อนการกลับคืนพระชนม์ชีพ
พระวรสารนักบุญมาระโก (The Gospel of Mark)
ในช่วงเวลาหนึ่งหลังศักราชสากลที่ 70 (C.E.) พระวรสารนักบุญมาระโกได้มีผู้ประกาศเผยแผ่มาถึงชุมชนของนักบุญมัทธิว และได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนประกอบของธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน(คริสตชน) ซึ่งได้นำมาใช้ในชีวิตของประชาชนและพิธีบูชา เดิมพระวรสารนักบุญมาระโกได้เขียนขึ้นในชุมชนชาวคริสต์ และใช้สอนกันในชุมชนชาวคริสต์ที่เป็นคนต่างศาสนา (Gentile-Christian) ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ธรรมบัญญัติหรือพระคัมภีร์ปัญจบรรพ10 (Torah) (มก. 7:1-23) ชุมชนชาวยิวที่นับถือศาสนาคริสต์สมัยนักบุญมัทธิวได้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ไปยังคนต่างศาสนา และได้เปิดตัวรับฟังข้อคิดมุมมองจากศาสนาคริสต์ของชนต่างชาติเหล่านั้น เป็นเหตุให้คำบรรยายในพระวรสารนักบุญมาระโกได้กลายมาเป็นพื้นฐานของการบอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ในพระศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิว รวมถึงบอกสาระแนวปฏิบัติต่างๆ ที่พระวรสารนี้มุ่งเน้น เช่น พระเยซูเจ้าผู้ทำปาฏิหาริย์ พระเยซูเจ้าผู้ถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนม์ชีพ พระเยซูเจ้าผู้เริ่มต้นภารกิจเผยแพร่ข่าวดีไปสู่ชนต่างชาติ หากพระวรสารนักบุญมาระโกมีความเกี่ยวข้องกับนักบุญเปโตรอยู่แล้ว ก็เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของนักบุญเปโตรในฐานะของผู้นำของอัครสาวกและเป็นประจักษ์พยานสำคัญ ซึ่งสิ่งนี้มีปรากฏอยู่ในธรรมประเพณีสายของนักบุญมัทธิวด้วย และเอื้อให้เกิดการยอมรับพระวรสารนักบุญมาระโกในฐานะเป็นตัวบทที่เป็นบรรทัดฐานให้กับพระศาสนจักรสมัยนักบุญมัทธิว ท่านนักบุญมัทธิวไม่เพียงแต่รวมเอกสารแหล่ง Q และพระวรสารนักบุญมาระโกเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังสร้างพื้นฐานเทคนิควิธีการบรรยายเรื่องแบบพระวรสารนักบุญมาระโก (Markan Narrative Basic) โดยผสานใส่เนื้อหาจากเอกสารแหล่ง Q และแหล่ง M ลงไปในเค้าโครงเรื่องของพระวรสารนักบุญมาระโก ในลักษณะเนื้อหาย่อยระดับรองๆ ลงมา ดังนี้ พระวรสารนักบุญมัทธิวจึงเป็นงานเขียนของการตีความใหม่และใส่รายละเอียดเพิ่มเติม(ผสาน)ลงไปในเรื่องเล่าจากพระวรสารนักบุญมาระโก ไม่ใช่เพิ่มในเอกสารแหล่ง Q
เนื้อหาและขนบธรรมเนียมพิเศษสมัยนักบุญมัทธิว แหล่ง (“M”)
นอกจากเอกสารแหล่ง Q และพระวรสารนักบุญมาระโกแล้ว นักบุญมัทธิวได้ยึดถือตามขนบธรรมเนียมและเนื้อหาข้อมูลต่างๆ ที่เฉพาะเจาะจงอยู่ในชุมชนของตน “M” ซึ่งไม่ใช่เป็นเอกสารที่แยกออกมาต่างหาก แต่หมายถึงตัวเนื้อหาของธรรมประเพณีต่างๆ ในสมัยของนักบุญมัทธิว และเนื่องจากขนบธรรมเนียมเหล่านี้สืบทอดต่อกันมาในพระศาสนจักรท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนในการพัฒนาทางเทววิทยาของนักบุญมัทธิว บางครั้งจึงยากที่จะแยกแยะระหว่างธรรมประเพณี M กับสิ่งที่นักบุญมัทธิวดัดแปลงแก้ไขเอง แหล่ง M อาจประกอบด้วยข้อความต่างๆ ที่ยกมาจากคัมภีร์ศาสนาซึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับความรู้ทางเทววิทยาของนักบุญมัทธิว, คำพยานต่างๆ, การตีความของชาวคริสต์เกี่ยวกับข้อความที่ยกมาเหล่านั้น, ความคิดเห็นเชิงการตีความและพัฒนาการของเอกสารแหล่ง Q, ตัวบทพระวรสารนักบุญมาระโก และสิ่งสาระอื่นในขนบธรรมเนียมชาวคริสต์ รวมถึงคำกล่าวและเรื่องราวที่มาจากพระเยซูเจ้าหรือเกี่ยวข้องกับพระเยซู ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของธรรมประเพณีสมัยนักบุญมัทธิว แม้ว่าส่วนเล็กๆ เหล่านี้อาจได้เขียนขึ้นมาก่อนหน้าสมัยนักบุญมัทธิว แต่ส่วนใหญ่แล้ว(แต่ไม่ใช่ทั้งหมด)เป็นการสืบทอดแบบเล่าต่อๆ กันมา ประมาณหนึ่งชั่วอายุคนหรือมากกว่านั้นก่อนสมัยของนักบุญมัทธิว บ่อยครั้งเป็นไปได้ที่พบว่าเนื้อหาเหล่านี้ผ่านการปรับเปลี่ยน แก้ไข และขยายเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ๆ แต่บางครั้งได้คงรักษารูปแบบดั้งเดิมของธรรมประเพณีไว้อย่างเที่ยงตรงจนน่าทึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมประเพณีที่ยอมรับศาสนาคริสต์ของชาวยิวที่ยึดมั่นตามหลักของธรรมบัญญัติ ในชุดหนังสือปัญจบรรพ (Torah)
การใช้ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญมัทธิวและชุมชนของมัทธิว (Matthew and His Community’s Use of This Sacred Tradition)
นักบุญมัทธิวเป็นผู้รู้เข้าใจในตัวบทของงานเขียนและธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ของชุมชนอย่างแตกฉาน และให้ความเคารพใส่ใจอย่างถ่องแท้จริงจังกับแหล่งข้อมูลเหล่านั้นทั้งหมด แต่ท่านเพียงใช้เป็นข้ออ้างอิง ไม่ได้ผูกมัดหรือยึดติดกับสิ่งใด นักบุญมัทธิวคุ้นเคยกับคัมภีร์ของศาสนายิวมากพอที่จะกล่าวอ้างอิงถึงเนื้อหาเหล่านั้นโดยที่ไม่ต้องดึงความสนใจของผู้อ่านไปที่งานเขียนนั้นโดยตรง (ดูบทเสริมเรื่อง “นักบุญมัทธิวในฐานะผู้ตีความพระคัมภีร์” 151-154) ดังนั้นทั้งเอกสารแหล่ง Q พระวรสารนักบุญมาระโก และแหล่ง M ต่างมีส่วนในการเป็นพื้นฐานห่อหุ้มหล่อหลอมจนเป็นเนื้อหาเดียวกันให้กับพระวรสารของนักบุญมัทธิวทั้งสิ้น การนำเอกสารแหล่ง Q และพระวรสารนักบุญมาระโกมาใช้นั้น จึงเป็นการเขียนซึ่งห่างไกลจากคำว่า “ตัดแปะ” ที่ใช้เป็น “แหล่งข้อมูล” เพราะจิตใจของนักบุญมัทธิวนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาจากเอกสารทั้งสองจนสามารถกล่าวถึงได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งในส่วนที่ไม่ได้นำมา “ใช้” โดยตรง ดังนี้ ข้อความจากพระวรสารนักบุญมาระโกจึงได้บูรณาการเข้าไปสู่เนื้อหาในเอกสาร Q และในทางกลับกันด้วย ข้อความหนึ่งจากเอกสารแหล่ง Q กลายมาเป็นข้อความจากพระวรสารนักบุญมัทธิวที่ใครๆ ต่างรู้จักกันดี และเมื่อนำมาใช้บ่อยครั้งในบทความตอนอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอกสารแหล่ง Q ความจริงวิธีการและกระบวนการเช่นนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรทราบว่าตัวบทต่างๆ และวิธีการตีความผสานเพิ่มเติมนี้เป็นเทคนิคการทบทวนตีความที่ได้ใช้กันในพระศาสนจักรของนักบุญมัทธิวมานานหลายสิบปีแล้วก่อนที่จะมีตัวหนังสือพระวรสาร และไม่ได้มีเพียงนักบุญมัทธิวผู้เดียวเท่านั้น ผู้ฟังหรือผู้อ่านของท่านต่างคุ้นเคยใกล้ชิดกับงานเขียนลักษณะนี้เป็นอย่างดี แสดงว่านักบุญมัทธิวเขียนพระวรสารนี้ขึ้นมาให้กับผู้อ่านที่รู้จักคุ้นเคยเรื่องเหล่านี้มาก่อน