รูปแบบที่มีการใช้ซ้ำๆ และเครื่องมือที่ใช้เป็นกรอบ

ตัวอย่างของรูปแบบที่ใช้วิธีการเล่าแบบซ้ำๆ กัน เป็นเครื่องบ่งชี้เชิงโครงสร้างสองตัวอย่างได้แก่

1. “ตั้งแต่นั้นมา พระเยซูเจ้าได้ทรงเริ่มต้น… [ajpo; to”te h[rxto oJ !Ihsou’v + กริยาช่องที่ 1, apo tote erxato ho Iesous]” (4:17/16:21) การปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกของรูปแบบนี้เป็นการนำเข้าสู่การประกาศของพระเยซูเจ้าถึงพระอาณาจักรพระเป็นเจ้าต่อสาธารณชน ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและการปฏิเสธ การปรากฏขึ้นซ้ำอีกครั้งของรูปแบบนี้ใน 16:21 เป็นการนำเข้าสู่ช่วงเวลาที่พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนเหล่าสาวกของพระองค์เป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับการทนทุกข์ทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการฟื้นพระชนม์ของพระองค์ หากจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้เชิงโครงสร้างหลัก ก็จะได้เค้าโครงดังต่อไปนี้

  1. การนำเสนอถึงพระเยซูเจ้า (1:1-4:16)
  2. พระราชกิจของพระเยซูเจ้าต่อชาวอิสราเอลและการปฏิเสธพระเยซูเจ้าของชาวอิสราเอล (4:17-16:20)
  3. การเดินทางของพระเยซูเจ้าไปยังเยรูซาเล็มและการทนทุกข์ทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์ (16:21-28:20) 41

2. พระวรสารเทศนาบนภูเขาและเรื่องราวเกี่ยวกับปาฏิหารย์และการเป็นศิษย์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันต่อไปนี้มีการอ้างอิงถึงข้อพระคัมภีร์อื่นที่มีรูปแบบบทสรุปที่เกือบจะเหมือนกัน (4:23/ 9:35) การชี้แนะให้ผู้อ่านมองบทที่ 5-9 เป็นหน่วยเดียวกัน คือเป็น “คำสอนของพระเมสสิยาห์(Messianic Teaching) และกิจการอันประกอบด้วยฤทธานุภาพของพระเมสสิยาห์ (Messianic Acts of Power)” ดูจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดอยู่จากการอ้างอิงของผู้เล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับปาฏิหารย์ต่างๆ ที่มีการรวบรวมไว้ในบทที่ 8-9 โดยเรียกว่าเป็น “สิ่งที่พระคริสต์ทรงกระทำ” (11:2 พระคัมภีร์ฉบับ NIV) และจากสิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัสซึ่งตามมาใน 11:4 “จงไปแจ้งแก่ยอห์นซึ่งท่านได้ยิน [บทที่ 5-7] และได้เห็น [บทที่ 8-9] (พระคัมภีร์ฉบับ NRSV) นักบุญมัทธิวได้เปลี่ยนแหล่ง Q ใน 11:4 เพื่อจับคู่นี้ได้

โครงสร้างแบบการกลับลำดับ (Chiastic Structures.)

เป็นการขยายความเทคนิคการวางกรอบที่ข้างในมีคู่หน่วยที่จัดเรียงไว้ให้ประกอบกันเป็นกรอบที่สอดรับกันชุดหนึ่งโดยจัดเรียงไว้รอบๆจุดความสนใจศูนย์กลาง เช่น ในรูปแบบ A-B-C-B’-A’ หรือรูปแบบที่มีมากชั้น หลายคู่ อาจมีลักษณะคล้ายแซนด์วิช แฮมเบเกอร์ หรือ ทรงคล้ายปิรามิด ทั้งแบบตั้งและราบ (Vertical & Horizontal) ดังภาพ

รูปแบบโวหารนี้เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป ในสมัยโบราณ ทั้ง ปีเตอร์ เอฟ. เอลลิส และ ซี. เอ็ช. ลอร์ (Peter F. Ellis and C. H. Lohr) ต่างก็เห็นว่าพระวรสารนี้มีการจัดเรียงตามโครงสร้างแบบกลับลำดับทั้งหมด ซึ่งเป็นการจัดเรียงที่มีความสัมพันธ์กันกับรูปแบบ   “5 เล่มพระวรสาร” ที่ได้มีการอภิปรายไว้ข้างต้น ดังนี้

A 1-4 พระประสูติและจุดเริ่มต้น

เรื่องเล่า

B 5-7 การเข้าสู่พระอาณาจักร

วาทกรรม

C 8-9 สิทธิอำนาจและคำเชิญ

เรื่องเล่า

D 10 วาทกรรมเกี่ยวกับพันธกิจ

วาทกรรม

E 11-12 การปฏิเสธจากคนยุคนี้

เรื่องเล่า

F 13 อุปมาเกี่ยวกับพระอาณาจักร

วาทกรรม

E’ 14-17 การยอมรับจากสาวก

เรื่องเล่า

D’ 18 วาทกรรมเกี่ยวกับชุมชน

วาทกรรม

C’ 19-22 สิทธิอำนาจและคำเชิญ

เรื่องเล่า

B’ 23-25 วิบัติ, การมาของพระอาณาจักร

วาทกรรม

A’ 26-28 ความตายและการเกิดใหม่

เรื่องเล่า

โครงสร้างแบบกลับลำดับนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคของนักบุญมัทธิวและแสดงถึงเครื่องมือในการวางโครงสร้างอย่างหนึ่งที่ท่านชอบใช้มากที่สุด โดยเฉพาะใน 1:1-12:21 ที่ซึ่งนักบุญมัทธิวสร้างโครงสร้างของท่านเองโดยอิสระอย่างที่สุด อย่างไรก็ดี แม้ว่าแผนภูมิดังกล่าวจะดูเหมือนเป็นระบบระเบียบมาก แต่จริงๆ แล้ว มิได้เป็นอย่างนั้น และหากจะนำเอาพระวรสารทั้งฉบับมาจัดเป็นรูปแบบการกลับลำดับหนึ่งรูปแบบ ส่วนต่างๆ ก็ไม่อาจเข้าที่เข้าทางได้โดยเป็นธรรมชาติ

รูปแบบตรีลักษณ์ (Triadic Patterns)

ได้มีการตั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มของนักบุญมัทธิวที่จะประพันธ์ในรูปแบบตรีลักษณ์อยู่บ่อยๆ งานเขียนล่าสุดที่มีข้อสังเกตดังกล่าวนี้คืองานของ ดับเบิ้ลยู. ดี. เดวีส์ และ เดล ซี. อัลลิสัน จูเนียร์ (W. D. Davies and Dale C. Allison. Jr.) นักบุญมัทธิวเองเรียกความสนใจมาที่โครงสร้างแบบตรีลักษณ์ของท่านที่ใช้ในหน่วยเริ่มแรก คือลำดับวงศ์วาน (1:2-17) มีองค์ประกอบแบบตรีลักษณ์อื่นๆ อีกมากมาย (เช่น การประจญสามครั้งใน 4:1-11) โดยเฉพาะในตอนต้นของพระวรสาร ซึ่งนักบุญมัทธิวกำลังประพันธ์ขึ้นอย่างสร้างสรรค์ อย่างไรก็ดี รูปแบบนี้หายไปทันที เมื่อนักบุญมัทธิวเริ่มเขียนตามแนวทางของนักบุญมาระโกที่ มธ. 12:22/ มก. 3:22 (ดูเค้าโครงโดยละเอียดที่แบ่งออกเป็นส่วนๆในส่วนคำอธิบาย) ขณะที่เนื้อหาส่วนที่มาจากพระวรสารมาระโกไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เค้าโครงแบบเดี่ยว ครอบคลุม ระดับเดียว? บางรูปแบบที่กล่าวไว้ข้างต้นก็สอดคล้องกันและเน้นความเด่นชัดของกันและกัน เช่น จุดเปลี่ยนทางภูมิศาสตร์ ณ จุดเริ่มต้นของส่วน “กาลิลี” ก็สอดคล้องกับรูปแบบ “ตั้งแต่นั้นมา พระเยซูเจ้าได้ทรงตั้งต้น…[กริยาช่องที่ 1]” ใน 4:17 และ 16:21 รูปแบบอื่นๆ ดูจะไม่ได้มีลักษณะที่ตรงกัน บางรูปแบบอาจเป็นรูปแบบของแหล่งที่มาที่นักบุญมัทธิวใช้มากกว่าจะสะท้อนถึงการประพันธ์ของท่านเอง ซึ่งหมายความว่าการจะบูรณาการรูปแบบเชิงโครงสร้างทั้งหมดที่สังเกตเห็นได้ในพระวรสารนักบุญมัทธิวเข้ามาเป็นเค้าโครงเส้นตรงแบบแบนและมีมิติเดียวที่ผู้อ่านจะมองว่าเป็นเค้าโครงของพระวรสารนักบุญมัทธิวนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ความเข้าใจโครงสร้างของพระวรสารนักบุญมัทธิวควรเป็นในลักษณะที่เป็นพลวัตและมีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่านั้น เป็นสิ่งซับซ้อนที่มีโครงสร้างต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกันโดยมีความเคลื่อนไหวปรากฏอยู่ในตัวบทมากกว่าหนึ่งความเคลื่อนไหวในขณะเดียวกัน ราวกับว่ามีเค้าโครงหลายชั้น ผลก็คือองค์ประกอบใดก็ได้สักอย่างหนึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องในพลวัตของโครงสร้างมากกว่าหนึ่งโครงสร้าง การที่ “เค้าโครง” ไม่ได้มีความประณีตและเด่นชัดอาจไม่ได้จำเป็นต้องหมายความว่า พระวรสารนักบุญมัทธิวมีลักษณะการเขียนแบบง่ายๆ สบายๆ หรือคิดอย่างไรก็เขียนไปโดยไม่พิจารณาให้ดี แต่หมายความว่าเนื้อหาออกจะสร้างความจำกัดแก่ผู้เขียนอยู่เหมือนกัน อาจเป็นได้ด้วยว่า นักบุญมัทธิวซึ่งเป็นผู้เขียนมีความสามารถในการเล่าเรื่องอย่างยอดเยี่ยม จึงทำให้เค้าโครงไม่โดดเด่นออกมา ไม่ให้โครงเรื่องเข้ามามีความโดดเด่นจนทำให้ “สรุป” เรื่องได้ เค้าโครงข้างล่างนี้เป็นการพยายามจะให้ความสนใจและคำนึงถึงระดับต่างๆ ของพลวัตเชิงโครงสร้างในเรื่องราวของนักบุญมัทธิว แต่ก็นำเสนอเค้าโครงเส้นตรงแบบแบนที่จะช่วยผู้อ่านในการทำความเข้าใจพระวรสารทั้งหมดในภาพรวมได้

ธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญมัทธิว (มาระโกและ Q) ในฐานะเป็นกุญแจสู่โครงสร้างของท่าน นักบุญมัทธิวได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากโครงสร้างของแหล่งที่มาหลักทั้งสองแหล่งของท่าน แม้ว่าท่านจะนำหลายอย่างๆ มาเรียงใหม่เพื่อที่จะนำเนื้อหาที่คล้ายกันมาไว้ด้วยกัน แต่ท่านก็คงไว้ซึ่งเค้าโครงโดยคร่าวๆ ของทั้งแหล่ง Q และมาระโก โดยเอาอย่างแหล่ง Q มากหน่อยในบทต้นๆ และเอาอย่างมาระโกมากหน่อยตั้งแต่ 12:22 เป็นต้นไป เนื่องจากทั้งนักบุญมัทธิวและผู้อ่านผู้เป็นเป้าหมายของท่านมีความคุ้นเคยอย่างทะลุปรุโปร่งในการดำเนินเรื่องของนักบุญมาระโก นักบุญมัทธิวจึงทำให้เรื่องเล่าในพระวรสารของนักบุญมาระโกเป็นพื้นฐานสำหรับโครงสร้างของเรื่องราวของท่านเอง หลังจากคัดเอาเนื้อหาจากส่วนหลังๆ ของพระวรสารนักบุญมาระโกมาใช้ในโครงสร้างสร้างสรรค์ของงานที่ 1:12-12:21 ท่านก็ไม่ได้หันเหไปจากลำดับเหตุการณ์ที่คัดมาจากพระวรสารนักบุญมาระโกเลย ตั้งแต่ มธ. 12:22//มก. 3:22 ไปจนถึงตอนท้ายของพระวรสาร ในส่วนแรกของพระวรสาร ผู้อ่านแต่ดั้งเดิมจะจำได้ว่าสิ่งที่อ่านเป็นเนื้อหาของพระวรสารนักบุญมาระโกและแหล่ง Q แต่นำมาจัดเรียงใหม่และขยายเพื่อสร้างโลกของเรื่องราวขึ้นมาใหม่หมด ตั้งแต่ 12:22 (มก. 3:22) เป็นต้นไป ผู้อ่านก็จะอยู่ในอาณาเขตที่คุ้นเคย แต่จะมีกรอบใหม่ที่มีบริบทในการตีความ ในการวางโครงสร้างเรื่องราวขึ้นใหม่ของนักบุญมัทธิว อาณาจักรพระเจ้ากลายมาเป็นแนวคิดหลักของเรื่องราวทั้งหมด ดังนั้นจึงควรมองว่าพระวรสารของนักบุญมัทธิวมีโครงสร้างเป็นส่วนหลักสองส่วนที่มีการจัดวางให้เข้ากันกับการนำเนื้อหาจากพระวรสารนักบุญมาระโกมาใช้ในงานเขียนของท่าน โดยมีพระอาณาจักรพระเป็นเจ้าเป็นสาระครอบคลุมที่ทำให้ทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวกัน   

โครงสร้างของส่วนที่หนึ่ง “เปิดประเด็นและนิยามความขัดแย้งของพระอาณาจักร (มธ. 1:1-12:21) นักบุญมัทธิวเลือกตอนที่เป็นสถานการณ์ความขัดแย้งใน มก. 3:22-30 เป็นจุดหลักที่จะรวมเอาการประพันธ์ของท่านเองเข้ามาไว้กับการเดินเรื่องของพระวรสารนักบุญมาระโก (มธ. 12:22) การที่นักบุญมัทธิวเลือกทำเช่นนี้ดูจะได้รับอิทธิพลจากการที่เหตุการณ์ตอนนั้นเป็นหนึ่งในไม่กี่ตอนที่ปรากฏอยู่ในแหล่งที่มาทั้งสองแหล่งที่ท่านใช้ (สำหรับแหล่ง Q ดู มธ. 12:22-24//ลก. 11:14-15) อย่างไรก็ดี เหตุผลหลักในการเลือกส่วนนั้นที่ซึ่งแหล่งที่มาสองแหล่งของท่านมาบรรจบกันก็คือ ความขัดแย้งที่มีอยู่ในตอนนั้นแสดงถึงอาณาจักรของมารและการมาถึงของอาณาจักรพระเจ้าที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศให้รู้ ความขัดแย้งระหว่างความชั่วของโลกปัจจุบันซึ่งแทนด้วย “อาณาจักรของซาตาน” และอาณาจักรที่กำลังมาถึงของพระเป็นเจ้าซึ่งมีอยู่แล้วในพระเยซูเจ้าเป็นสิ่งพื้นฐานในการจะทำความเข้าใจทั้งโครงเรื่องและเทววิทยาของพระวรสารนักบุญมัทธิว

ความขัดแย้งอันเป็นชนวนระเบิดในตอนนั้นถูกจุดขึ้นโดยคำกล่าวหาที่ว่าพระเยซูเจ้าทรงมีเบเอลเซบูล – กล่าวคือ พระองค์ทรงเป็นพวกเดียวกับซาตานและกิจการต่างๆ ทรงที่กระทำนั้น ทำด้วยอำนาจของซาตาน (12:24-26) คำกล่าวหานี้มีความสำคัญต่อนักบุญมัทธิวอย่างมาก ซึ่งนักบุญมัทธิวบ่งชี้อย่างเจาะจงว่า สมาชิกชุมชนของท่าน และอาจจะมีตัวท่านเองด้วย (มก. 4:22, “ธรรมาจารย์”; ลก. 11:15 “บางคน”) ได้เผชิญคำกล่าวหานี้จากชาวฟาริสี ผู้ซึ่งได้ขึ้นมาเป็นผู้นำในสมัยนั้น (เทียบ 10:25) เห็นได้ชัดว่านักบุญมัทธิวได้มีการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับคำกล่าวหาทางเทววิทยา  ซึ่งพบอยู่ในแหล่งที่มาหลักของท่านทั้งสองแหล่ง และทำให้คำกล่าวหานี้เป็นศูนย์กลางของโครงสร้างงานประพันธ์ของท่านเอง

โดยจดจ่อที่ฉากดังกล่าวในเนื้อหาส่วนบรรยายเรื่องของพระวรสารนักบุญมาระโก โดยใช้เนื้อหาจากแหล่ง Q, และธรรมประเพณีต่างๆ ในชุมชนของท่านเอง นักบุญมัทธิวได้ประพันธ์ส่วนที่ครอบคลุมกว้างขวาง คือส่วนแรกโดยทั้งหมดในเรื่องเล่า ซึ่งดำเนินเหตุการณ์ไปสู่ตอนหลักซึ่งเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งในพระวรสารนักบุญมาระโก นี่เป็นเงื่อนงำที่แสดงให้เห็นแล้วว่าความขัดแย้งนี้เป็นกุญแจสู่โครงเรื่องของพระวรสารนักบุญมัทธิว เรื่องราวเริ่มขึ้นด้วยการประกาศถึงการเสด็จมาของ “กษัตริย์ของชาวยิว” พระองค์ใหม่ (1:1-25) แต่การประกาศนี้กระทำขึ้นในสถานการณ์ที่กษัตริย์ของโลกแสดงอำนาจในการปกครองยุคสมัยนั้นอยู่แล้ว ในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามมาโดยความจำเป็น ผู้นำชาวยิวก็เข้าข้างฝ่ายผู้นำทางโลก ขณะที่คนต่างชาตินมัสการกษัตริย์ที่พระเป็นเจ้าได้ทรงส่งมา (2:1-23) นักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง ปรากฏขึ้นพร้อมกับสารของการมาถึงของพระอาณาจักรพระเป็นเจ้าที่ใกล้เข้ามา และพระเยซูเจ้าทรงเริ่มต้นการเทศนาสั่งสอน เมื่อพระองค์ทรงได้รับพิธีล้างจากนักบุญยอห์นแล้วเท่านั้น (3:1-4:17) แล้วพระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกสาวกให้ติดตาม (4:18-22) และเป็นพยานถึงพระธรรมคำสอนและกิจการต่างๆ ของกษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ (4:23-9:35) ผู้ประทานอำนาจให้พวกเขาได้มีความพร้อมสำหรับพันธกิจของพวกเขาที่จะกระทำแทนพระองค์ (11:2-19) กระนั้นพวกเขาก็อยู่ในยุคที่ถูกประจญล่อลวงให้สองจิตสองใจ (9:36-11:1) แม้แต่นักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้างเอง (11:2-19) ความขัดแย้งนี้ยังดำเนินไป (11:20-12:14) แม้ว่ากษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงมีบทบาทเป็นผู้รับใช้ ซึ่งเมื่อชาวยิวพากันปฏิเสธพระองค์ จะทำให้สำเร็จจริงตามพระคัมภีร์โดยนำความรอดมาสู่คนต่างชาติ (12:15-21) โดยการใช้รูปแบบกลับลำดับ นักบุญมัทธิวได้นำเอาเนื้อหาที่เป็นธรรมประเพณีซึ่งท่านใช้มาจัดเรียง เขียนขึ้นใหม่ และขยายความอย่างระมัดระวังให้กลายมาเป็นเรื่องเล่าที่มีโครงสร้างดังต่อไปนี้

A พระเยซูในฐานะกษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระเมสสิยาห์ ผู้เป็นเชื้อสายของดาวิดและพระบุตรพระเจ้า

1:12-25

B ความขัดแย้งกับอาณาจักรแห่งยุคสมัยนี้

2:1-23

C พระราชกิจของพระเยซูเจ้าในแง่ที่เกี่ยวกับนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง

3:1-4:17

D สาวกได้รับกระแสเรียก

4:18-22

E สิทธิอำนาจของพระเมสสิยาห์ในทางวาจาและการกระทำ

4:23-9:35

D’ สาวกได้รับสิทธิอำนาจและการมอบหมายให้ออกไปกระทำการ

9:36-11:1

C’ พระราชกิจของพระเยซูเจ้าในแง่ที่เกี่ยวกับนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง

11:2-19

B’ ความขัดแย้งกับอาณาจักรแห่งยุคสมัยนี้

11:20-12:14

A’ กษัตริย์ผู้ทรงเป็นผู้รับใช้

12:15-21

โครงสร้างแบบกลับลำดับนี้ประกอบขึ้นมา “จากข้างในออกมาข้างนอก” ดังนั้นจึงอาจมองโครงสร้างนี้เป็นวงจรที่มีจุดศูนย์กลางร่วมกันชุดหนึ่งได้ (ดูรูปที่ 2) ส่วน 4:23-9:35 นั้นเห็นได้ชัดว่าถูกกำหนดขอบเขตโดยนักบุญมัทธิวเอง โดยมีเครื่องบ่งชี้มากกว่าหนึ่ง ได้แก่ (1) 4:23 เป็นวงเล็บที่มี 9:35; (2) 11:2 “สิ่งที่พระเมสสิ-ยาห์กำลังทรงกระทำอยู่” (พระคัมภีร์ฉบับ NRSV) ชี้กลับไปยังบทที่ 8-9 และสาวกรับช่วงต่อในบทที่ 10; (3) 11:4, “ได้ยินและได้เห็น” อ้างอิงถึงบทที่ 5-7 (“ได้ยิน”) และ 8-9 (“ได้เห็น”); และ (4) 11:4ข-5 บรรยายเนื้อหาของบทที่ 5-9 เช่นนี้ “พระเมสสิยาห์ในภาควาจาและการกระทำ” ซึ่งเป็นแก่นกลางที่ให้นิยามจึงมีส่วนที่เกี่ยวกับการเป็นสาวกล้อมรอบอยู่ คือ 4:18-22, เหล่าสาวกได้รับกระแสเรียก และ 9:36-11:1, พวกเขาได้รับสิทธิอำนาจและการมอบหมายให้ออกไปกระทำการ ในมโนทัศน์ของพระเมสสิยาห์ในบริบทนี้ พระเมสสิยาห์ไม่ได้เป็นปัจเจกบุคคล (“มหาบุรุษ”) แต่เป็นผู้ให้กำเนิดชุมชนของพระเมสสิยาห์ ดังนั้น 4:18-11:1 จึงเป็นส่วนที่โอบล้อมพระเมสสิยาห์/บรรดาศิษย์ มีเครื่องหมายแสดงทางโครงสร้างที่เห็นได้ชัดเจนที่สองจุดนี้ในเรื่องเล่า

วงกลมศูนย์กลางร่วมถัดมาประกอบไปด้วยส่วนต่างๆที่แสดงถึงนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง นักบุญยอห์นมีตำแหน่งอยู่ระหว่าง “บรรดาศิษย์” และ “ผู้ต่อต้าน” ในแง่หนึ่ง ท่านได้รับเกียรติให้เป็นประกาศกของพระเป็นเจ้าที่แท้จริง เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด “ในบรรดาคนซึ่งเกิดมาจากผู้หญิงนั้น” (11:11 พระคัมภีร์ฉบับ NRSV) ซึ่งสารของท่านเป็นสารที่เตรียมทางและตรงกันกับสารของพระเยซูเจ้า (3:2/4:17) และพันธกิจของท่านเป็นเครื่องหมายแสดงถึงจุดเปลี่ยนของยุค (11:12) ในอีกแง่หนึ่งคือ ท่านไม่เคยได้มาเป็นสาวก และสาวกของท่านก็ไม่ได้หันมาสวามิภักดิ์ต่อพระเยซูเจ้า หากแต่ยังคงดำเนินการต่อไปโดยเป็นกลุ่มอิสระ (9:14) หลังจาก 3:17 เป็นต้นไป ตรรกะของเทววิทยาและเรื่องราวของนักบุญมัทธิวทำให้พวกเขาควรทำเช่นนั้น เรื่องราวของนักบุญมัทธิวจะสอดรับกันกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์นี้ก็โดยให้นักบุญยอห์นและบรรดาศิษย์ของท่านอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นทั้งศิษย์และผู้ต่อต้าน แม้ว่าพวกท่านจะมีบทบาทสำคัญในแผนการช่วยให้รอดของพระเป็นเจ้าที่อยู่บนเส้นแบ่งระหว่างศิษย์และผู้ต่อต้านก็ตาม ดังนั้น พวกเขาจึงอยู่ฝ่ายพระเยซูเจ้า

วงจรถัดมามีผู้นำของชาวยิวเป็นเครื่องแสดง ซึ่งการพรรณนาภาพผู้นำเหล่านี้เป็นแบบตัวละครมิติเดียวที่มีการต่อต้านพระเยซูเจ้า ต่อต้านอาณาจักรที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศและทำให้เป็นที่ประจักษ์ แท้จริงแล้ว ผู้นำเหล่านั้นเป็นตัวแทนอาณาจักรของซาตาน พวกเขาแข่งกับพระเยซูเจ้าเพื่อจะได้ความภักดีจาก “ฝูงชน” และท้ายที่สุดก็ได้พวกเขาเหล่านั้นมา (27:20-25)

วงเล็บนอกสุดที่ล้อมรอบทั้งหมด รวมถึงแก่นกลางด้วย มีพระเยซูเจ้าเป็นส่วนเติมเต็มกษัตริย์ผู้ให้นิยามใหม่แก่ความเป็นกษัตริย์ เส้นที่บ่งชี้ส่วนที่สัมพันธ์กันไม่ได้มีวัตถุประสงค์เป็นการจะแยกส่วนเหล่านี้ออกจากกันราวกับว่าส่วนเหล่านี้ไม่ต่อเนื่องกัน เช่นเดียวกับแผนภูมิที่แสดงให้เห็นว่าส่วนที่หนึ่งต่างกับส่วนที่สอง และเป็นคนละส่วนกัน (รูป 3) ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งครึ่งพระวรสารออกเป็นสองส่วนที่ไม่ต่อเนื่องกัน พระวรสารนี้เป็นเรื่องเล่าที่มีความต่อเนื่องกันทั้งหมด โดยในพระวรสารนี้แต่ละส่วนก็ต่อยอดส่วนที่มาก่อนหน้าและเตรียมทางให้ส่วนต่อมาอีกด้วย โดยเฉพาะส่วนที่หนึ่งของพระวรสารนักบุญมัทธิวที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ ส่วนนี้ไม่ได้ขาดความต่อเนื่องกันกับส่วนที่สอง แต่เตรียมผู้อ่านเพื่อนำเข้าสู่ส่วนที่สอง

ในกรอบนี้ พระเยซูเจ้าเองในฐานะกษัตริย์ผู้เป็นพระเมสสิยาห์เป็นแกนกลาง พระองค์ไม่ได้เติมเต็มแต่เพียงส่วน 4:23-9:35 ซึ่งเป็นส่วนแกนกลางอันเป็นจุดหมุนเท่านั้น แต่ยังเติมเต็มหน่วยที่เป็นจุดเริ่มต้นและบั้นปลายซึ่งขนาบล้อมส่วนนี้ทั้งหมดด้วย (A, A’) โปรดสังเกตว่าที่สุดแล้วความขัดแย้งไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างพระเยซูเจ้าและผู้นำชาวยิวเท่านั้น เรื่องเล่าดำเนินไปโดยเป็นส่วนที่เป็นเรื่องราวบนโลก เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเรื่องราวแห่งจักรวาล (ดูคำอธิบายสำหรับ 4:1-11; 12:22-32; 13:36-39) ข้อขัดแย้งที่เป็นของโลกนี้เป็นเนื้อหาของเรื่องเล่ามีฉากหลังเป็นจักรวาล เป็นตำนานและชี้ไปไกลกว่าตัวเอง ดังนั้นพระเป็นเจ้าจึงทรงเป็นผู้กระทำการที่ซ่อนเร้นอยู่ตลอดเรื่อง และซาตานก็เป็นปฏิปักษ์ที่ซ่อนเร้นอยู่เช่นกัน ผู้เขียนสานข้อขัดแย้งกับซาตานเข้ามาในทั้งโครงสร้างเป็นสาระที่อยู่ใต้เรื่อง (เรื่องราวการขับผี) ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าข้อขัดแย้งนี้มีอยู่แต่เพียงในส่วน “การประจญ” (4:1-11) ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์เดียวในทั้งหมด ไม่ใช่จุดเปลี่ยนสำคัญในเค้าโครง คำกล่าวหาเรื่องการสมรู้ร่วมคิดกันกับเบเอลเซบูล ใน 9:32-34 และ 10:25 รักษาคำกล่าวหาให้คงชีวิตอยู่ในมุมที่ดูขัดๆ และเตรียมผู้อ่านสำหรับการเข้ามาเชื่อมกันกับเรื่องเล่าของนักบุญมาระโกอีกครั้ง ที่ 12:22 (= มก. 3:22) ด้วยการกล่าวถึงความขัดแย้งกับอิสราเอล ตอนนี้ผู้อ่านก็รู้แล้วว่าซาตาน แม้ว่าจะพ่ายแพ้ต่อพระเยซูเจ้าไปแล้ว แต่ยังคงอยู่ในฉากหลังของความขัดแย้งนี้ ผู้อ่านแต่ดั้งเดิมรู้ได้จากประสบการณ์ของตนเองว่าความขัดแย้งนี้ดำเนินไปตลอดเรื่องเล่าและดำเนินมาจนถึงยุคสมัยของผู้อ่านด้วย กระทั่งในหมู่สาวกของพระเยซูเจ้าเอง (16:23)

โครงสร้างของส่วนที่สอง “ความขัดแย้งของอาณาจักรดำเนินไปและคลี่คลาย” เรื่องเล่านี้ดำเนินต่อจากเรื่องราวของพระวรสารนักบุญมาระโกที่ 12:22 (= มก. 3:22) และความขัดแย้งยังดำเนินต่อไป พระศาสนจักรของนักบุญมัทธิว ซึ่งเป็นผู้ฟัง/ผู้อ่านแต่เดิมของพระวรสารมาระโกและแหล่ง Q มาถึงตอนนี้ก็ได้กรอบใหม่ในการจะตีความธรรมประเพณีศักดิ์สิทธิ์ของตนเองแล้ว นับตั้งแต่ 12:22 เป็นต้นไป ส่วนที่เป็นบรรยายโวหารก็เพียงแค่ดำเนินตามเค้าโครงและลำดับของนักบุญมาระโกเท่านั้นเอง นักบุญมัทธิวเอาตราประทับของตนเองมาประทับเรื่องราวนี้โดยสอดแทรกธรรมประเพณีและการประพันธ์ของท่านเองเข้าไปในส่วนที่เป็นบรรยายโวหารและโดยการพัฒนาพระวรสารเทศนาในพระวรสารนักบุญมาระโกให้กลายมาเป็นหน่วยการประพันธ์หลักๆ ที่สอดรับกับคำเทศนาบนภูเขาและวาทกรรมเกี่ยวกับพันธกิจในส่วนที่หนึ่ง ชุดของพระวรสารเทศนาห้าครั้งที่ได้จึงประกอบกันเป็นโครงสร้างที่นำส่วนที่หนึ่งและส่วนที่สองมาประสานไว้ด้วยกัน

โครงสร้างของพระวรสารจึงอาจมองได้ว่าเป็นอย่าง รูปภาพที่ 3

ความรู้ทั่วไป