ความรู้เกี่ยวกับตู้ศีลมหาสนิท (Tabernacle)

เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะและตำแหน่งที่ตั้งของตู้ศีล เอกสารสำคัญต่างๆ ของพระศาสนจักรได้ให้รายละเอียดไว้ ดังนี้

1. กฎทั่วไปสำหรับมิสซาตามจารีตโรมัน (Institutio Generalis Missalis Romani)

ข้อ 314. ศีลมหาสนิทต้องเก็บรักษาไว้ในตู้ศีลซึ่งอยู่ภายในโบสถ์ ตรงตำแหน่งมีเกียรติ แลเห็นได้เด่นชัด ตกแต่งงดงาม เหมาะที่จะสวดภาวนา โดยพิจารณาถึงโครงสร้างของโบสถ์แต่และแห่งและคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นด้วย ตามปกติ ต้องมีตู้ศีลเพียงตู้เดียว อยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ ทำด้วยวัสดุแข็งแรงทนทาน ไม่โปร่งใส และปิดได้จนไม่มีอันตรายที่จะถูกทุราจาร นอกจากนั้นก่อนจะใช้ในพิธีกรรม ตู้ศีลควรได้รับการเสกตามพิธีที่กำหนดไว้ในหนังสือพิธีเสกจารีตโรมัน (Rituale Romanum)

2. ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร (Code of Canon Law)

มาตรา 938. วรรค 1 ศีลมหาสนิทต้องเก็บไว้เป็นประจำในตู้ศีลเพียงแห่งเดียวของวัดหรือของวัดน้อย

วรรค 2 ตู้ศีลซึ่งเก็บรักษาศีลมหาสนิท ต้องตั้งไว้ในส่วนที่เด่นของวัด หรือของวัดน้อย เป็นส่วนที่มองเห็นชัด ประดับอย่างสมพระเกียรติและชวนให้ภาวนา

วรรค 3 ตู้ศีลซึ่งใช้เก็บรักษาศีลมหาสนิทเป็นประจำ ต้องยึดติดตายกับที่ ทำด้วยวัตถุแข็งทนทาน ไม่โปร่งแสง ปิดกุญแจแน่นหนา อย่างที่ว่าปลอดภัยจากการลบหลู่มากที่สุด

วรรค 4 ถ้ามีเหตุผลอันหนัก อนุญาตให้เก็บรักษาศีลมหาสนิทในที่แห่งอื่นซึ่งปลอดภัยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามค่ำคืน

วรรค 5 ผู้มีหน้าที่ดูแลวัดหรือวัดน้อย ต้องดูแลให้มีการเก็บรักษากุญแจตู้ที่เก็บรักษาศีลมหาสนิท อย่างเอาใจใส่ที่สุด

3. CEREMONIAL OF BISHOPS

ข้อ 49. ขอแนะนำว่าตามธรรมเนียมซึ่งมีมาตั้งแต่โบราณเกี่ยวกับตู้ศีล (tabernacle) ในอาสนวิหาร ควรตั้งอยู่ในโบสถ์น้อย (chapel) ซึ่งแยกออกมาจากบริเวณโบสถ์ แต่ในกรณีเฉพาะ ที่มีตู้ศีลอยู่บนพระแท่นที่บิชอปประกอบพิธีกรรม ศีลมหาสนิทควรถูกนำออกไปเก็บรักษาไว้ยังสถานที่อื่นที่เหมาะสม

4. ข้อกำหนดของสภาประมุขบาทหลวงคาทอลิกแห่งอิตาลี เรื่องการวางแผนสร้างโบสถ์ใหม่

ข้อ 13. ที่เก็บรักษาศีลมหาสนิท

ต้องเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้ในสถานที่ที่เด่นชัดจริงๆ ในโครงสร้างของอาคาร โดยปรกติแล้วสถานที่นี้ควรแยกจากโถงกลางของโบสถ์ เหมาะสำหรับการนมัสการและอธิษฐานภาวนาเป็นการส่วนตัว เหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ก็คือความจำเป็นที่จะต้องไม่แสดงเครื่องหมายของการประทับอยู่ในศีลมหาสนิทให้ปรากฏพร้อมกันกับการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ ตู้ศีลต้องมีเพียงตู้เดียว ต้องแข็งแรงติดอยู่กับที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ มีความทนทาน ไม่โปร่งใส ต้องไม่ละเลยที่จะจัดให้มีที่วางตะเกียงซึ่งจุดอยู่ตลอดเวลาใกล้ๆกับตู้ศีล เพื่อเป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ขององค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นการถวายเกียรติแด่พระองค์

ที่มา: คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม

Share on facebook
แชร์บทความ