จากเทศกาลมหาพรต สู่ พิธีกรรมสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์

ในการแข่งขันวิ่งระยะไกล ที่ต้องวิ่งหลาย ๆ รอบ เมื่อวิ่งมาถึงรอบสุดท้าย จะมีเสียงกระดิ่ง หรือระฆัง ให้สัญญาณกับนักวิ่ง เพื่อเตือนให้รู้ว่าถึงรอบสุดท้ายแล้ว ใกล้จะถึงเส้นชัยแล้ว หากอยากจะเป็นผู้ชนะ หรืออยากจะไปให้ถึงเส้นชัย คงจะต้องเพิ่มความเร็ว ไม่ล้ม และก็ไม่หยุดวิ่งซะก่อน

เป้าหมาย หรือเส้นชัยของเทศกาลมหาพรต ก็คือการฉลองปัสกา ซึ่งเป็นวันฉลองที่สำคัญที่สุดสำหรับคริสตชน มีสัญญาณ หรือสัญลักษณ์ในพิธีกรรมที่จะเตือนเราเช่นกันว่า โค้งสุดท้ายของเทศกาลมหาพรตมาถึงแล้ว

โค้งสุดท้ายที่ว่านี้ (the last phase of Lent) เริ่มตั้งแต่ วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 5 ของเทศกาลมหาพรต ที่เคยเรียกว่า “วาระแห่งการระลึกถึงพระมหาทรมานฯ” (Passiontide) มีความพิเศษเกิดขึ้น 2 ประการในวันนี้ ก็คือ ใน “บทนำขอบพระคุณ” (บทภาวนาของพระสงฆ์ก่อนบทเสกศีล) จะใช้บทนำขอบพระคุณ “พระคริสตเจ้าทรงรับทรมาน แบบที่ 1” และจะใช้บทนี้ไปตลอดทั้งสัปดาห์ ความพิเศษประการที่สอง ก็คือ มีธรรมเนียมดั้งเดิมที่วันนี้ จะเริ่มคลุมรูปไม้กางเขน รูปพระ และรูปนักบุญต่าง ๆ ด้วยผ้าสีม่วง (หรือถ้าไม่คลุมผ้าในวันนี้ ก็อาจจะคลุมในคืนวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ หลังจากเสร็จพิธีต่าง ๆ แล้ว ก็ได้) การคลุมผ้าก็เป็นอีกเครื่องหมายหนึ่ง ที่ช่วยเราให้มุ่งตรงสู่การรำพึงถึงพระมหาทรมานของพระคริสตเจ้า

วันอาทิตย์มหาทรมาน (อาทิตย์ใบลาน)

ผ่านจากสัปดาห์ที่ 5 ของเทศกาลมหาพรต ก็เข้าสู่สัปดาห์สุดท้าย ที่เรียกว่า “สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์” วันนี้ เราระลึกการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่าของพระเยซูคริสตเจ้า มีการเสกใบลาน ที่เราแต่ละคนถืออยู่ในมือ (เหมือนกับที่ชาวยิวถือกิ่งมะกอก รับเสด็จพระเยซูเจ้า) โดยมีพระสงฆ์สวมอาภรณ์สีแดง ที่หมายถึงสีของกษัตริย์ เดินนำขบวนสัตบุรุษเข้าสู่พระวิหารของพระเจ้า

วันนี้ เรายังจะได้ฟังบทพระมหาทรมาน ที่มีการบ้านให้เรานำกลับไปรำพึงต่อเนื่องในวันจันทร์ศักดิ์สิทธิ์ อังคารศักดิ์สิทธิ์ และพุธศักดิ์สิทธิ์

วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์

พอถึงวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ ที่อาสนวิหารจะถูกจัดเตรียมไว้อย่างดี เพื่อการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญ นั่นก็คือ “มิสซาเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์” วันนี้ เราจะเห็นภาพและความหมายสำคัญของ “สหบูชามิสซา” ที่พระสังฆราชและพระสงฆ์ จะถวายมิสซาร่วมกัน พร้อมกับมี “พิธีรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งการเป็นพระสงฆ์”

ไม่เพียงเท่านี้ ในตอนท้ายของพิธีดังกล่าว พระสังฆราชเองจะแสดงถึงความต่ำต้อย ขอให้บรรดาพระสงฆ์ นักบวช และมวลประชาสัตบุรุษทุกคนได้ภาวนาเพื่อท่าน เพื่อให้ชีวิตของท่านเอง เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนถึงชีวิตของพระคริสตเจ้า ผู้พร้อมจะรับใช้ทุก ๆ คน

ยังมี “พิธีเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์” ที่พระสังฆราช (พร้อมกับพระสงฆ์) จะเสก และพระสงฆ์จะนำกลับไปที่วัด เพื่อใช้สำหรับอภิบาลศีลศักดิ์สิทธิ์แก่บรรดาสัตบุรุษ คือ น้ำมัน คริสมา น้ำมันสำหรับคนไข้ และน้ำมันสำหรับผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน จึงเป็นโอกาสดียิ่งที่

มิสซาในตอนเช้าของวันพฤหัสนี้ จะมีบรรดานักบวช สัตบุรุษ นักเรียนคำสอน และผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาป อยู่ร่วมในพิธีนี้ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยให้เข้าใจความหมายและความสำคัญของน้ำมันต่าง ๆ แล้ว ภาพของพระศาสนจักรก็จะปรากฏเด่นชัดอีกวันหนึ่ง ภายในอาสนวิหารของสังฆมณฑลของเรา

ในวันเดียวกัน เมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้ว วัดแต่ละแห่งก็เตรียมพร้อมสำหรับพิธีมิสซาระลึกถึงการเลี้ยงของพระคริสตเจ้า เป็นการเริ่ม “ตรีวารปัสกา” ที่ไม่ได้มีความหมายแค่เพียงการเตรียมฉลองปัสกาเท่านั้น แต่เป็นการฉลองธรรมล้ำลึกปัสกา (การทรมาน สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพฯ) อย่างต่อเนื่อง 3 วัน

มิสซาค่ำวันนี้ ยังระลึกถึงการตั้งศีลมหาสนิท (พิธีมิสซา) และศีลบวช อีกทั้งจะเน้นย้ำ คำสอนเรื่องบัญญัติแห่งความรัก ที่แสดงออกด้วยกิจการ ดังตัวอย่าง “การล้างเท้าอัครสาวก” ในค่ำคืนวันนี้ ยังมีการอัญเชิญศีล ไปยังที่พักศีล ให้เราได้เฝ้าศีลมหาสนิท ใกล้ชิดกับพระองค์เป็นพิเศษ ทั้งโดยส่วนตัว และกับหมู่คณะ ที่จัดเป็นกลุ่ม มีช่วงเวลาที่ระบุไว้ชัดเจน

หากสังเกต จะพบว่า ในคืนวันนี้ บนพระแท่นที่เคยมีผ้าปูแท่น มีเทียน มีไม้กางเขน จะเหลือเพียงพระแท่นที่ว่างเปล่า ต่อเนื่องไปถึงพิธีในวันรุ่งขึ้น “พระแท่นที่ว่างเปล่า” นี้แหละ หมายถึง “องค์พระเยซูเจ้า” ผู้พร้อมจะตอบรับน้ำพระทัยของพระบิดา มอบชีวิตของพระองค์ เป็นค่าไถ่ เพื่อความรอดของเราทุกคน

วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์

เช้าวันศุกร์ จะยังคงพบบรรยากาศที่เงียบสงบ เอื้ออำนวยให้สัตบุรุษมา “เดินรูป 14 ภาค” ทั้งโดยส่วนตัว หรือเป็นหมู่คณะ ถือเป็นกิจศรัทธาพิเศษ ที่มีความหมายสอดคล้องกับบรรยากาศของวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมทางการที่สำคัญของวันนี้ (ซึ่งไม่มีพิธีมิสซา) คือพิธีระลึกถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้า ที่แนะนำให้ประกอบพิธีในตอนบ่ายสามโมง เป็นเวลาเดียวกันกับที่นักบุญมัทธิว มาระโก และลูกา บันทึกไว้ว่า

พระเยซูเจ้าได้สิ้นพระชนม์ แต่เพื่อให้สัตบุรุษมาร่วมได้อย่างพร้อมเพรียง อาจเลือกเวลาอื่นก็ได้

เมื่อเริ่มพิธี สิ่งที่เห็นโดดเด่นอยู่ต่อหน้าเราทุกคน คือพระแท่นที่ว่างเปล่า พระสงฆ์แห่ออกมาในความเงียบสงบ แล้วไปนอนหมอบราบที่หน้าพระแท่น (หรืออาจจะคุกเข่าแทนก็ได้) การหมอบราบนี้ มีความหมายเดียวกันกับการหมอบราบของผู้ได้รับการบวชเป็นสังฆานุกร หรือเป็นพระสงฆ์ ที่พร้อมจะมอบชีวิตทั้งหมดโดยสิ้นเชิงแด่พระเจ้า ซึ่งผู้เป็นแบบฉบับ ก็คือ องค์พระเยซูเจ้า นั่นเอง

พระมหาทรมานตามคำเล่าของนักบุญยอห์น ถูกเล่าให้เราฟังและรำพึงอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับมีบทภาวนาเพื่อมวลชน ในรูปแบบดั้งเดิม ที่เปิดหัวใจของเราให้คิดถึงพระศาสนจักรสากล คิดถึงสังคมส่วนรวม พร้อม ๆ กับคิดถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเราเอง

พิธีนมัสการไม้กางเขน ที่เริ่มต้นถ้อยคำประกาศจากพระสงฆ์ “นี่คือไม้กางเขน……”

และการตอบรับจากที่ชุมนุม ต่อด้วยการเปิดผ้าคลุม และที่สุด การเข้ามานมัสการไม้กางเขนอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการอ่านบทรำพึงหรือขับร้องบทเพลง ที่ปราศจากเสียงดนตรี เพื่อให้อยู่ในบรรยากาศของการระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ (อาจจะมีเสียงดนตรี เฉพาะเพื่อช่วยประคองเสียงร้องนำของพระสงฆ์)

แม้ไม่มีพิธีมิสซา ภาคที่สามของพิธีกรรมวันนี้ คือภาครับศีลมหาสนิท ที่ศีลมหาสนิทได้รับการจัดเตรียมและเสกไว้อย่างเพียงพอ ตั้งแต่คืนวันพฤหัส (มีศีลแผ่นใหญ่เผื่อไว้ เพื่อให้พระสงฆ์ ยกแสดงแก่สัตบุรุษในพิธีวันศุกร์ด้วย)

เราคงไม่ลืม วันนี้ เป็นอีกวันหนึ่ง ที่เราจะจำศีลอดเนื้อและอดอาหาร

ปีพิธีกรรมเดินทางมาถึงวันที่สำคัญที่สุด คือค่ำวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ ด้วย “พิธีตื่นเฝ้า” บนพระแท่นมีผ้าปูดังที่เคย มีเทียนตั้งไว้ (แต่ยังไม่จุด) ดอกไม้ที่ห่างหายไปตลอดเทศกาลมหาพรตกลับมาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับเสียงดนตรี บทเพลง พระสิริรุ่งโรจน์ และการขับร้อง “อัลเลลูยา” อย่างสง่า

วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์

พิธีวันนี้ แบ่งออกเป็น 4 ภาค เริ่มตั้งแต่ พิธีแสงสว่าง ที่มีการเสกไฟและแห่เทียนปัสกา จบด้วยการประกาศสมโภชปัสกาอย่างสง่า และเข้าสู่ภาคที่สอง คือภาควจนพิธีกรรม ผ่านทางพระวาจาของพระเจ้า จากบทอ่าน หลาย ๆ บท จะช่วยเชื่อมโยงให้เราเข้าใจถึงปัสกาของชาวยิว กับปัสกาของเราคริสตชน

ภาคที่สาม คือ พิธีศีลล้างบาป เริ่มด้วยการเสกน้ำล้างบาป หรือเสกน้ำเสก ต่อจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ และน่ายินดี ทั้งสำหรับผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชน และพี่น้องคริสตชนทุกคนที่จะได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ ด้วยพิธีล้างบาป รวมทั้งจะได้กล่าวคำรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งศีลล้างบาป ก่อนจะก้มศีรษะรับการพรมน้ำเสกจากพระสงฆ์ เตือนใจเราอีกครั้งหนึ่ง ให้คิดถึงพระ

พรแห่งศีลล้างบาป คิดถึงกระแสเรียกแห่งการเป็นคริสตชน และเตือนตนเองให้เจริญชีวิตสอดคล้องกับกระแสเรียกนี้

ภาคที่ 4 คือภาคศีลมหาสนิท ที่ทั้งคริสตชนใหม่และคริสตชนทั่วไปจะเดินออกมาสู่โต๊ะศักดิ์สิทธิ์ เพื่อรับองค์พระเยซูเจ้า ผู้เป็นอาหารแท้นิรันดร.

ตอนท้ายของพิธี พระสงฆ์จะกล่าวคำปิดพิธี ที่ต่อท้ายด้วย คำว่า “อัลเลลูยา อัลเลลูยา” เช่นเดียวกับที่เราจะตอบว่า “ขอขอบพระคุณพระเจ้า อัลเลลูยา อัลเลลูยา” (ซึ่งจะกล่าวเช่นนี้ต่อเนื่องตลอดอัฐมวารปัสกา)

วันอาทิตย์ปัสกา

วันรุ่งขึ้น คือวันฉลองอาทิตย์ปัสกา บรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ยังคงปรากฏให้เห็น ด้วยพิธีกรรมที่สง่างาม แม้จะไม่มีพิธีพิเศษใด ๆ นอกจาก การรับฟัง “บทเสริม” ก่อนพระวรสาร (ส่วนการเสกไข่ปัสกา เป็น “ธรรมเนียม” ที่เพิ่มเติมเข้ามา และใช้ไข่เป็นสัญลักษณ์หมายถึงการได้รับชีวิตใหม่นั่นเอง)

ถึงแม้จะอธิบายพอจะให้เห็นภาพของการฉลองพิธีกรรมในช่วงที่สำคัญที่สุด แต่ก็ยังไม่เท่ากับการที่เราได้ไปร่วมอยู่ในการฉลองดังกล่าวนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องทุกท่านไปพบกับความหมายและได้รับคุณค่าที่แท้จริงของการสมโภชปัสกา ฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ด้วยการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในทุกๆ พิธีกรรม ที่แต่ละ วัดได้จัดเตรียมไว้สำหรับพี่น้องทุกๆ คน

Share on facebook
แชร์บทความ