สมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าลำธารแห่งชีวิตอยู่ในองค์พระเยซูเจ้า

ความรักของพระคริสตเจ้า พระองค์ปรารถนาให้เรารักกันและกัน เหมือนอย่างที่พระองค์ทรงรักเรา พระองค์เชิญชวนเราเลียนแบบพระองค์ เพราะพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระองค์ทรงสุภาพ อ่อนโยน อ่อนหวาน ละมุนละไม “ความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า” พระนางพรหมจารีมารีอาเป็นคนแรก ที่แสดงความศรัทธาต่อพระหฤทัยศักดิสิทธิ์ยิ่ง

 ในปี 1856 พระสันตะสำนักอนุญาตให้คริสตชนทั่วโลกทำวันฉลองพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า และตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระสันตะปาปาทุกองค์ทรงส่งเสริมความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยอย่างเป็นทางการ

ในปี 1899 สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ทรงประกาศพระสมณสาสน์ “ปีศักดิ์สิทธิ์” (Annum Sacrum) ทรงอธิบายหลักการทางเทววิทยาของการมอบถวายตน (consecration) แด่พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า โดยเน้นเป็นพิเศษว่า กิจการใด ๆ ที่แสดงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า “เป็นการแสดงความเคารพต่อ พระบุคคลของพระเยซูเจ้าโดยตรงอย่างแท้จริง” และยังมีพระสมณสาสน์เกี่ยวกับพระหฤทัย ของพระสันตาปาปอีกหลายพระองค์

ในปี 1979 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ประกาศพระสมณสาสน์ฉบับแรก “พระผู้ไถ่มนุษย์” (Redemptor Hominis) ทรงอ้างโดยตรงถึงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าว่า “การไถ่บาปมนุษย์ในความหมายที่ลึกซึ้งที่สุดก็คือ ความยุติธรรมบริบูรณ์ ในพระหฤทัยของมนุษย์ คือพระหฤทัยของพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระเจ้า เพื่อความยุติธรรมของพระองค์จะกลายเป็นความยุติธรรมในใจของมนุษย์มากมาย…ผู้ถูกเรียกให้มารับความรัก” (9)

ในปี 2005 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงประกาศพระสมณสาสน์ “พระเจ้าทรงเป็นความรัก” (Deus Caritas Est) ทรงอธิบายว่า การเป็นคริสตชนไม่ได้เป็นผลของการปฏิบัติธรรมหรือเป็นความคิดที่ ลึกซึ้ง แต่เป็นการพบกับเหตุการณ์หรือบุคคลซึ่งเปิดมิติใหม่และให้แนวทางที่แน่นอนแก่ชีวิต บุคคลนั้นคือพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระเจ้า “พระคัมภีร์เล่าประวัติศาสตร์ความรักของพระเจ้าว่าพระองค์เสด็จมาพบเรา ทรงหาวิธีต่าง ๆ ที่จะชนะใจเรา จนถึงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูเจ้ากับบรรดาศิษย์ จนถึงพระหฤทัยที่ถูกแทงของพระองค์บนไม้กางเขน จนถึงพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพแสดงพระองค์แก่บรรดาศิษย์ และกิจการยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่ทรงนำทางแก่พระศาสนจักรแรกเริ่ม โดยอาศัยการกระทำของบรรดาอัครสาวก” (17)

ความเลื่อมใสศรัทธา หมายถึง ความเคารพที่ขึ้นกับความรู้สึกของแต่ละคน คือบุคคลหนึ่ง “มอบตน” “อุทิศตน” หรือ “รู้สึกผูกพันด้วยความรัก” กับอีกบุคคลหนึ่ง ผู้ใดมีความศรัทธาต่อนักบุญองค์ใดองค์หนึ่ง ผู้นั้นก็รู้สึกผูกพันด้วยความรักกับนักบุญองค์นั้น เช่น ผู้มีความศรัทธาต่อนักบุญอันตนระลึกถึงนักบุญองค์นี้ด้วยความรักบ่อยๆ ไม่เพียงระลึกถึงท่านปีละครั้งในวันฉลองซึ่งตรงกับวันที่ 13 มิถุนายน แต่เขาภาวนาบ่อย ๆ ต่อนักบุญอันตน พยายามแสดงความเคารพโดยถวายเทียน จุดประทัด ทำทาน หรือสวดนพวาร ฯลฯ

ในทำนองเดียวกัน พระศาสนจักรเชิญชวนสัตบุรุษให้แสดงคารวกิจต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าไม่เพียงปีละครั้งในวันสมโภช แต่ยังเชิญชวนผู้มีความศรัทธาต่อพระหฤทัยให้สวดบทภาวนาถวายตนแด่พระหฤทัยทุกวัน ระลึกถึงพระหฤทัยทุกวันศุกร์ต้นเดือน รับศีลมหาสนิทและนมัสการศีลมหาสนิทเพื่อชดเชยบาป สวดภาวนาสั้น ๆ แสดงความไว้วางใจ วอนขอพระพรเพื่อจะได้มีความรู้สึกนึกคิดเยี่ยงพระองค์ ปฏิบัติคุณธรรมตามพระฉบับของพระองค์ มีรูปปั้นหรือภาพวาดของพระหฤทัยในบ้าน แขวนเหรียญพระหฤทัยไว้ติดตัว ฯลฯ

1.พื้นฐานของความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า

แม้เป็นที่รู้จักกันดีว่า ความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยเผยแผ่ในหมู่คริสตชนทั่วไปในศตวรรษที่ 17 โดย ผลงานของนักบุญยอห์น เอิ๊ดส์ (+1680) และนักบุญมาร์การีตา มารีย์ อาลาก็อก (+1690) แต่ความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า มีพื้นฐานและศูนย์กลางในธรรมล้ำลึกของพระคริสตเจ้า พระบุตรผู้ทรงบังเกิดเป็น มนุษย์เพื่อช่วยทุกคนให้รอดพ้น ตั้งแต่สมัยของนักบุญยอห์นและนักบุญเปาโล พระศาสนจักรมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อความรักของพระเจ้าผู้ทรงรักมนุษย์จนประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวแก่ทุกคน และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อความรักของพระเยซูเจ้า ผู้ทรงรักมนุษย์จนทรงมอบพระองค์เพื่อทุกคน กระนั้นก็ดี ยังไม่พูดถึงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าโดยตรง แต่ในพันธสัญญาใหม่มีข้อความ 2 ตอนที่สนับสนุนความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าคือ

เรื่องคำสรรเสริญของพระเยซูเจ้าด้วยความยินดี (มธ 11:25-30) พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์ว่า มีพระทัยสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน นักบุญมัทธิวบันทึกเรื่องนี้เพื่อบรรดาศิษย์ปฏิบัติตามพระฉบับของพระองค์ และเรื่องทหารแทงด้านข้างพระวรกายของพระเยซูเจ้า (ยน 19:31-37) นักบุญยอห์นเล่าว่า เมื่อทหารแทงด้านข้างพระวรกายของพระเยซูเจ้า พระโลหิตและน้ำไหลออกมาทันที นักบุญยอห์นยังอ้างคำทำนายของประกาศกเศคาริยาห์ที่ว่า “เขาทั้งหลายจะมองดูผู้ที่เขาได้แทง” (ศคย 12:10) ข้อความนี้ต้องการสอนว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นลูกแกะที่ถูกประหารเป็นบูชาจริง ๆ สำหรับความรอดพ้นของมนุษย์ และการถวายบูชาของพระเยซูเจ้าเป็นบ่อเกิดแห่งพระหรรษทานอันอุดมสำหรับมนุษย์ทุกคน “เมื่อเราจะถูกยกขึ้นจากแผ่นดิน เราจะดึงดูดทุกคนเข้ามาหาเรา” (ยน 12:32)

ความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระหฤทัยจึงเตือนเราให้ระลึกว่า พระเยซูเจ้าทรงมอบพระองค์ “สุดจิตใจ” โดยความสมัครพระทัยและความก ระตือรือร้น พระองค์ทรงสอนเราว่า เราต้องทำความดีด้วยความยินดี เพราะ “การให้ย่อมเป็นสุขมากกว่าการรับ”(กจ 20:35) และ “พระเจ้าทรงรักผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี ”(2 คร 9:7) การกระทำเช่นนี้ไม่มาจากความตั้งใจของมนุษย์ แต่เป็นพระหรรษทานที่พระเยซูเจ้าทรงมอบแก่เราเป็นของประทานจากพระจิตของพระองค์ทำให้ทุกสิ่งเป็นเรื่องง่ายและค้ำจุนชีวิตประจำวันของเรา แม้ในเวลาถูกทดลองและเผชิญกับยากลำบาก

 บทภาวนาแด่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์พระเยซูเจ้า

ข้าแต่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า พวกลูกขอโมทนาคุณพระองค์สำหรับความรักของพระองค์ที่มีต่อมนุษยชาติ ซึ่งเป็นความรักที่ไม่มีที่สิ้นสุด และเป็นความรักแห่งการเยียวยารักษาพวกลูกทุกคนทั้งฝ่ายร่างกายและวิญญาณ พระองค์ตรัสสัญญาว่า ที่ใดที่ตั้งรูปและแสดงความเคารพต่อพระรูปพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ ผู้นั้นหรือครอบครัวนั้นจะได้รับการปกป้องคุ้มครองและดูแลรักษาให้รอดพ้นจากบาปและความตายนิรันดร

ในสังคมปัจจุบันนี้ มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ได้รับการกดขี่ข่มเหงและการเอารัดเอาเปรียบ ผู้ใหญ่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนในเรื่องความรัก

ข้าแต่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า โปรดทรงพระเมตตาเปิดประตูใจของลูก และมาประทับอยู่ ในชีวิตของลูก เพื่อชีวิตของลูกจะได้ฉายส่องความรักของพระเจ้าแก่บุคคลอื่น โปรดประทานสันติสุขและความเคารพแก่กันและกัน เพื่อชีวิตครอบครัว จะได้ดำรงอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม สันติสุข ความยินดีและความรัก

โอ้ ข้าแต่พระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของพระเยซูเจ้า โปรดอภัยความผิดบาปของลูกและโปรดให้พวกลูกเป็นเครื่องมือแห่งความรักของพระองค์ในโลกนี้ และเมื่อลูกจากโลกนี้ไปแล้ว พวกลูกจะได้ชื่นชมกับความรักของพระองค์ ตลอดนิรันดร

อาแมน

ที่มา: เนื้อหาจากเวบไซต์คณะภคินีพระหฤทัยของพระเยซุเจ้าแห่งกรุงเทพฯ

Share on facebook
แชร์บทความ