
คำนำ จากผู้แปลถอดความ
The New Interpreter’s Bible
หนังสืออธิบายตีความพระวรสาร โดยนักบุญมัทธิว ฉบับนี้ เป็นฉบับทดลองใช้เพื่อศึกษาความเป็นไปได้สำหรับกระบวนการเพิ่มศักยภาพในการศึกษาพระคัมภีร์และการแบ่งปันพระวาจาในงานอภิบาลของชุมชนวัด เป็นการทดลองแปลถอดความจากหนังสือเล่มหนึ่งในเจ็ดสิบสามเล่ม หรือจากชุดหนังสือ The New Interpreter’s Bible จำนวนสิบสองชุดเล็กของชุดใหญ่ทั้งหมดของหนังสือคัมภีร์ของผู้อธิบายตีความ ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ค.ศ. 1994 – 2004 ซึ่งได้ปรับปรุงพัฒนาจากหนังสือชุด The Interpreter’s Bible เดิมของ United Methodist Publishing (Abingdon/ Cokesbury) จัดพิมพ์และเผยแพร่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 เป็นหนังสือที่มียอดจำหน่ายมากกว่า 3 ล้านชุด จัดเป็นหนังสืออธิบายพระคัมภีร์ (the Commentary) ที่ดี เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ทั้งชาวคริสต์และยูดาย เหมาะสำหรับพระสงฆ์ ผู้ศึกษาและนักพระคัมภีร์ ผู้สอนพระคัมภีร์และนักเทวศาสตร์ด้านพระคัมภีร์ โดยเฉพาะผู้สนใจค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับพระคัมภีร์ใช้ศึกษาอ้างอิง หรือใช้สำหรับประกอบบทเทศน์ ในงานอภิบาลโดยใช้พระคัมภีร์เป็นฐานและเพื่อการศึกษาตีความเพิ่มเติม
หนังสือเล่มนี้อยู่ในชุดเล็ก ชุดที่ 8 ประกอบด้วยหนังสืออธิบายตีความพระวรสาร โดยนักบุญมัทธิวและนักบุญมาระโก หนังสืออธิบายตีความทั้งหมดประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ ข้อศึกษาวิพากษ์ (Commentary) และ ข้อคิดไตร่ตรอง (Reflection) กับคำอธิบายกระบวนการแปลตีความหมายที่เกี่ยวข้อง
1. ข้อศึกษาวิพากษ์ (Commentary) เป็นส่วนศึกษาของนักพระคัมภีร์ ผู้ค้นคว้าอย่างเจาะลึกตามหลักการวิชาการและอย่างมีวิจารณญาณตามหลักฐานและเอกสารข้อเท็จจริง ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชนอิสราเอลและชนชาติเพื่อนบ้านหรือประเทศชาติที่เกี่ยวข้อง แหล่งข้อมูลอ้างอิงหรือเกี่ยวข้อง ข้อศึกษาวิเคราะห์ทางวรรณกรรม ทางสังคมวิทยาและเทววิทยาของชาวคริสต์ทุกนิกายและศาสนายูดายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อศึกษาอย่างเป็นเหตุเป็นผลสำหรับผู้ศึกษาได้ร่วมกันศึกษาวิพากษ์บนพื้นฐานแห่งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และสื่อความหมายของผู้เขียนที่ต้องการถ่ายทอดสู่ประชาชนในยุคสมัยของตน และยังก่อเกิดประโยชน์สำหรับผู้อ่าน ผู้ตีความและศึกษาวิพากษ์ วิจารณ์ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและหลักวิชาการที่เหมาะสม เป็นพื้นฐานเสริมสร้างความเข้าใจเนื้อหาสาระของพระคัมภีร์ พระวาจาของพระเจ้าสำหรับมนุษย์ทั้งมวล เสริมพลังให้การประกาศข่าวดีมีคุณค่าและเป็นที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีภาพสื่อประกอบ แผนผัง แผนที่ แผนภูมิเพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและตีความหมายกับการนำไปศึกษา อธิบายได้ตามเหมาะสม
2. ข้อคิดไตร่ตรอง (Reflection) เป็นส่วนข้อคิดจากการไตร่ตรองเนื้อหาสาระของเรื่องเล่าบันทึกในพระคัมภีร์ในสถานการณ์หนึ่ง สู่ผู้อ่านในอีกสถานการณ์หนึ่ง ที่อาจเกิดจากการทบทวนรำพึงภาวนา การอภิปราย โต้แย้งในแง่มุมที่เป็นประโยชน์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันและใช้กับชีวิตร่วมสมัยของผู้อ่านหรือผู้ศึกษาวิเคราะห์ร่วมกัน เป็นฐานสำหรับแสดงความคิดเห็น การนำมาประยุกต์ใช้สำหรับชีวิตประจำวันหรือการรำพึงไตร่ตรองภาวนาในโอกาสเข้าเงียบ เสริมความเชื่อและจัดการกับข้อคิดเห็นหรือสิ่งท้าทายในชีวิต ในการพบปะแบ่งปัน การวิเคราะห์กระบวนการทำงานร่วมกัน เป็นส่วนประกอบบทเทศน์ ข้อเขียนและสิ่งเสนอแนะต่อวิทยาการและสิ่งท้าทายใหม่ๆ โดยเฉพาะการรำพึงเพ่งพิศภายใต้การทรงนำพาขององค์พระจิตเจ้าองค์เดียวกับผู้ส่องสว่างให้ผู้เขียนพระคัมภีร์ และทรงเป็นผู้เขียนหลักของพระคัมภีร์ทั้งหมด เพื่อชี้นำหนทางในชีวิตและงานอภิบาลประกาศข่าวดีในโลกสมัยปัจจุบัน สามารถประยุกต์ปรับใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพของประชาชนและสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในยุคสื่อสารข้ามวัฒนธรรมและสื่อสารข้อมูลผ่านทางเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมทั้งเชิงฟิสิกส์ เคมีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ รวมทั้งการนำไปใช้กับระบบนวัตกรรมทางอีเล็คโทรนิคต่างๆ
ต่อมาผมได้อ่านหนังสือ พระเยซูเจ้าแห่งนาซาเร็ธ เขียนโดย พระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ ที่ 16 พระองค์ได้ศึกษาและเสนอเทคนิคและวิธีการแบบง่ายเพื่อช่วยบรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช ศาสนาบริกร และคริสตชนฆราวาสให้สามารถอ่านและตีความพระคัมภีร์ได้ ในมาตรฐานและรูปแบบวิธีที่ดี เป็นหลักการศึกษาวิเคราะห์สำหรับการตีความพระคัมภีร์ ดังนี้
1. อ่านพระคัมภีร์ ฟังพระวาจาอย่างตั้งใจ (มีใจใฝ่รู้เทวศาสตร์และข้อความเชื่อ)
2. ศึกษาและตีความบนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอย่างน่าเชื่อถือ
3. ให้หลักเกณฑ์และคำสอนหรือธรรมบัญญัติเพื่อปฏิบัติสำหรับชีวิต ปฏิบัติแล้วเกิดผลดีแก่ตนและผู้อื่น
4. ทบทวนข้อที่ได้จากการศึกษา วิพากษ์และตีความใหม่ หรือทบทวนกับเหตุการณ์ชีวิต ไม่ว่าอยู่ในช่วงสมัยกาลเวลาใด ในอดีตหรือปัจจุบัน คำสอนนั้นๆ ยังมีคุณค่าและความหมายใหม่ๆ เหมาะสมกับชีวิตอย่างชัดเจน บางครั้ง เมื่อรำพึงภาวนาหรือไตร่ตรอง จะได้รับรู้มีแสงสว่างแก่หนทางชีวิต เข้าใจอย่างลึกมากขึ้น และเห็นสัจธรรมความดีงามที่แตกต่างอย่างมีความหมายและคุณค่าแก่จิตใจของตนหรือสังคม
5. ผู้อ่านควรอ่านแบบตั้งใจหรือจิตภาวนา จะสามารถเข้าใจได้ภายใต้แสงสว่างของพระจิตเจ้า ทั้งในลักษณะจิตภาวนา ไตร่ตรองหรือพิศเพ่งจะได้ความหมายแห่งพระธรรมเช่นเดียวกับที่ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์ในบริบทของตน เนื่องด้วยเป็นองค์พระจิตเจ้าองค์เดียวกันที่ส่องสว่างแก่ผู้นิพนธ์และผู้อ่านในยุคสมัยที่ต่างกัน เพื่อขอรับพระพรแรงบันดาลใจสำหรับชีวิตแห่งความเชื่อ และกำลังเข้มแข็งในการปฏิบัติความเชื่ออย่างเกิดผล
การศึกษาตีความพระวรสารนักบุญมัทธิวฉบับนี้ มีการจัดแบ่งเรื่องราวออกเป็น 5 เล่มตามแบบแผนเดิม และเพิ่มแนวทางการวิเคราะห์หรือตีความหมายใหม่ (Reinterpretation) ตามแนวทางของนักบุญมัทธิว ผู้นิพนธ์พระวรสาร อีก 2 ลักษณะ คือ เรื่องการเผชิญหน้าระหว่างอาณาจักรสวรรค์กับอาณาจักรซาตาน ตามแนวทางของผู้อธิบายตีความ M. EUGENE BORING และแนวทางวิเคราะห์ตีความใหม่ จัดแบ่งพระวรสารนักบุญมัทธิว เป็นลักษณะเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าในฐานะพระเมสสิยาห์ แบ่งออกเป็น อารัมภบท(The Promised Messiah), the Messiah in Word, the Messiah in Deeds, Jesus as the New Torah, Jesus as New Moses, Jesus as the Son of God & Jesus as the Suffering Servant และการมอบหมายบรรดาศิษย์ปฏิบัติการประกาศข่าวดีต่อไปอย่างต่อเนื่อง หรือ the Glory of God and the fulfillment of God ในพระภารกิจแห่งการไถ่กู้ให้รอดพ้น ซึ่งผมขอตรวจสอบแนวความคิดเพื่อเข้าใจพระเยซูเจ้า พร้อมกับขอแลกเปลี่ยนในกระบวนการศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน
ขอขอบคุณ คุณอรทูล เติมคุนานนท์ ที่เสียสละเวลาช่วยอ่านและตรวจพิสูจน์อักษร ทำให้น่าอ่าน และขอบคุณน้องสาวสองคน คือ คุณวินิจ แพร่สิริ และคุณวิรัตน์ แพร่สิริ ที่เป็นกำลังใจในการจัดการถอดความและเรียบเรียง
ผู้จัดทำและผู้จัดแปลถอดความหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ผมและคณะใคร่ประสงค์จะขอคำแนะนำแก้ไขสำหรับหนังสือฉบับทดลอง ซึ่งเป็นฉบับนำร่องนี้ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงให้ดีและเหมาะสมมากขึ้นต่อไป เนื่องจากผมเองไม่ได้ศึกษาพระคัมภีร์มาโดยตรง เพียงแต่มีโอกาสศึกษาจากหลักสูตรผู้นำกลุ่มแบ่งปันพระวาจา งานอภิบาลโดยใช้พระคัมภีร์เป็นฐานที่เมืองเนมี กรุงโรม ประเทศอิตาลี หลักสูตร 3 เดือน ปี ค.ศ. 2011 และ หลักสูตร 1 เดือน ปี ค.ศ. 2015 ที่ เอกเช โฮโม (ECCE HOMO) ประเทศอิสราเอล และได้รับแรงบันดาลใจให้แปล จึงจัดทำแบบถอดความเรียบเรียง ผมเพียงต้องการทำประโยชน์ให้คริสตชนได้ศึกษาและเข้าใจพระคัมภีร์ด้วยตนเองมากขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็คุ้มค่าแล้วครับ
บาทหลวง วิวัฒน์ แพร่สิริ Ph. D. (Development Ed.) และคณะ
21 มิถุนายน 2016